ความไม่ประมาท ๑๗ ข้อ
*** ความไม่ประมาท ๑๗ ข้อ ***
อีกจุดหนึ่งที่ทรงเมตตาสอน เรื่อง ความไม่ประมาท มีความสำคัญดังนี้
๑. ให้พิจารณาอายุของร่างกายที่มากขึ้นทุกวัน แสดงให้เห็นชัดถึงความตายที่เข้าใกล้เข้ามาทุกที จงอย่ามีความประมาทในชีวิต
๒. ให้เห็นทุกข์ของการมีชีวิตอยู่ ในโลกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนจากภัยนานาประการ เรื่องเหล่านี้มิใช่ของแปลกหรือของใหม่ แต่อย่างไร เป็นภัยที่อยู่คู่โลกมานานแล้วในทุกๆพุทธันดรที่เจอมาอย่างนี้
๓. อย่าไปหวังแก้โลก อย่าไปหลงปรุงแต่งตามโลก ให้เห็นตัณหา ๓ ประการที่ครอบงำโลกให้วุ่นวายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน”
๔. ให้มองทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางโลกเสียด้วยความเห็นทุกข์ เห็นความไม่เที่ยง น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายินดี ไม่น่ายินร้ายแม้แต่นิดเดียว
๕. อย่าสนใจในจริยาของผู้อื่น ใครจักเป็นอย่างไรก็ช่าง ให้มองจิตตนเข้าไว้เป็นสำคัญ เพราะตนเองปรารถนาพระนิพพาน จักต้องโจทย์จิตของตนเองเอาไว้เสมอ ฝึกให้ปล่อยวางเพราะการไปพระนิพพาน จิตติดอะไรแม้แต่อย่างเดียวในโลกนี้หรือไตรภพ ก็ไปไม่ถึงซึ่งพระนิพพาน
๖. การปฏิบัติมิใช่เป็นเพียงคำปรารภโก้ๆเท่านั้น จักต้องเอาจริงเอาจังในการละซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างในโลก จึงจักไปได้ แต่ตราบใด ที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ก็ให้พิจารณาปัจจัย ๔ เป็นสิ่งจำเป็นที่จักต้องยังอัตภาพให้เป็นไป สักแต่ว่าเป็นเครื่องอยู่ สักแต่ว่าเป็นเครื่องอาศัย แล้วอยู่อย่างพิจารณาให้เห็นชัดว่า ร่างกายหรือวัตถุธาตุทั้งหมด มีคำว่าเสื่อมและอนัตตาไปในที่สุด จิตก็คลายความเกาะติด จิตมีความสุข มีความสงบ เมื่อถึงวาระร่างกายจักพังการตัดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ภายนอก หรือแม้แต่ร่างกายก็ตัดไม่ยาก เนื่องด้วยพิจารณาจนรู้แจ้ง เห็นตามความเป็นจริงแล้ว
๗. ให้พิจารณาร่างกาย พิจารณาเวทนา โดยย้อนกลับไปกลับมา ไม่มีร่างกายก็ย่อมไม่มีเวทนา ไม่มีเวทนาก็ย่อมไม่มีร่างกาย แล้วให้เห็นปกติธรรมของรูปและนามซึ่งอาศัยกันและกันพิจารณาให้ลึกลงไป จักเห็นความไม่มีในเรา ในรูป ในนาม ได้ชัดเจน เราคือจิตที่ถูกกิเลสห่อหุ้มให้หลงอยู่ติดอยู่ในรูปในนามอย่างนี้มานานนับอสงไขยกัปไม่ถ้วน หากไม่พิจารณาให้ชัดเจนลงไปในรูปและนาม ก็จักตัดความติดอยู่ไม่ได้ และเมื่อตัดไม่ได้ก็ไปพระนิพพานไม่ได้
๘. จิตเมื่อจักวางจริยาของผู้อื่นได้ ต้องใช้ปัญญา พิจารณาจุดนี้ให้มาก ๆ ลงตัวธรรมดาให้ได้ แล้วจิตจึงจักปล่อยวางกรรมของผู้อื่นลงได้ ไม่ว่ากรรมดีหรือ กรรมชั่ว เช่น เห็นการเกิดการตายเป็นของคู่กัน เกิดเท่าไหร่ตายหมดเท่านั้น เป็นของธรรมดาแม้แต่พวกเจ้าเองก็เช่นกัน อย่าคิดว่าร่างกายนี้จักยังไม่ตาย ทั้งๆที่ระลึกถึงความตายอยู่นี้ ยังมีความประมาทแฝงอยู่มาก ไม่เชื่อให้สอบจิตของตนเองดู ๒๔ ชั่วโมง ระลึกนึกถึงความตายอย่างยอมรับความจริงได้สักกี่ครั้ง มิใช่สักแต่ว่าระลึกอย่างนกแก้วนกขุนทอง หาได้มีความเคารพนับถือความตาย อย่างจริงจังไม่ ซึ่งการกระทำอย่างนั้น หาประโยชน์ได้น้อย
๙. จำไว้ มรณานุสสติกรรมฐานเป็นพื้นฐานใหญ่ที่จักนำจิตของตนเองให้เข้าถึงความไม่ประมาทได้โดยง่าย และเป็นตัวเร่งรัดความเพียร ด้วยเห็นค่าของเวลาชีวิตที่เหลืออยู่ ชีวิตจริง ๆ ดั่งเช่นเปลวเทียนวูบ ๆ วาบ ๆ แล้วก็ดับหายไป เกิดใหม่ก็ดับอีกหากไม่เร่งรัดปัญญาให้เกิดขึ้น ก็ยังจักต้องเกิดตายอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน
๑๐. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้มิใช่ของจริง ตัวจริงๆคือจิต ให้พิจารณาแยกส่วนออกมาให้ได้ ร่างกายนี้สักเพียงแต่ว่าเป็นที่อยู่อาศัย เสมือนบ้านเช่าชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานจิตวิญญาณก็จักออกร่างกายนี้ไป ทุกร่างกายมีความตายไปในที่สุดเป็นธรรมดาเหมือนกันหมด แล้วพิจารณาการอยู่ของร่างกายทุกลมหายใจเข้าออกคือทุกข์ เนื่องด้วยความไม่เที่ยง ทรงตัวไม่ได้ พิจารณาให้เห็นชัด จึงจักวางร่างกายลงได้ในที่สุด
๑๑. แม้แต่เรื่องของบ้านเมือง เรื่องของเศรษฐกิจเวลานี้สับสนวุ่นวาย ให้พิจารณาเห็นเป็นธรรมดา เพราะดวงเมืองไทยเป็นอย่างนี้เอง จักต้องทำใจให้ยอมรับสถานการณ์ให้ได้ทุกๆสภาพ เพราะล้วนเป็นกฎของกรรมทั้งสิ้น
๑๒. ให้ดูวิริยะบารมี เพราะยังมีความขี้เกียจอยู่เป็นอันมาก ให้โจทย์จิต (จับความผิดของจิต) เข้าไว้ให้ดี ๆ อย่าไปเสียเวลากับจริยา ของผู้อื่น ใครจักเป็นอย่างไรก็ช่าง พิจารณาโลกก็เท่านี้ หาที่สิ้นสุดไม่ได้ ประการสำคัญ คือ ประคองจิตของตนเองให้พ้นไปเท่านั้น ความสำคัญอยู่ที่ตรงนี้
๑๓. การสงเคราะห์บุคคลอื่น เป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น อย่าเอาจิตไปเกาะกรรมของเขา มองให้เห็นธรรมดา แก้โลกไม่มีสิ้นสุด ให้แก้ที่จิตใจตนเองเป็นสิ้นสุดได้ พยายามปลดสิ่งที่เกาะติดอยู่ในใจลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้ วางภาระ และพันธะลงเสีย ให้เป็นสักแต่ว่าหน้าที่เท่านั้น จิตจักได้ไม่เป็นทุกข์ ประเด็นสำคัญอันจักต้องให้เห็นชัดคือพิจารณากฎของกรรม ให้ยอมรับนับถือในกฎของกรรม จุดนั้นจึงจักถึงซึ่งจิตเป็นสุขและสงบได้
๑๔. เวลานี้กฎของกรรมกำลังให้ผลหนัก ความผันผวนย่อมเกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่ไม่ควรที่จักหวั่นไหว รักษาจิตให้สงบ ให้เห็นทุกอย่าง เป็นธรรมดาเข้าไว้ รักษาอะไรไม่สำคัญเท่ารักษาจิตใจของตนเอง ใครตกอยู่ในห้วงของกิเลสก็ไม่สำคัญเท่ากับจิตใจของตนเอง ที่ตกอยู่ในห้วงของกิเลส ดูจุดนี้เอาไว้ให้ดี รักษาอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในกุศล ดีกว่าปล่อยให้อยู่ในห้วงของอกุศล ปล่อยวางกรรมใครกรรมมัน ให้ได้ ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นชัดในกฎของกรรม จุดนั้นแหละจึงจักปล่อยวางกรรมใครกรรมมันได้ ความสุขจักเกิดขึ้น แก่จิตใจตนเองอย่างแท้จริง
๑๕. การทำบุญและทำทาน แล้วพิจารณาด้วยความระลึกนึกถึงในบุญในทานอันพึงทำเพื่อพระนิพพาน โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นอย่างอื่น จัดเป็นจาคานุสสติด้วย และอุปสมานุสติด้วย เป็นการดี เพราะจิตอยู่ในอารมณ์กุศล ซึ่งดีกว่าปล่อยจิตให้ครุ่นคิดถึงความชั่ว-ความเลว แม้จักเป็นการกระทำของบุคคลที่อยู่รอบข้างมิใช่เป็นการกระทำของเราเอง ก็ให้พิจารณาลงเป็นธรรมดา แล้วปล่อยวาง อย่าให้ติดอยู่ในอารมณ์ ของใจ เพราะยิ่งคิดยิ่งฟุ้ง รวมทั้งสร้างความเร่าร้อนหรือเศร้าหมองให้เกิดขึ้นแก่จิต ต่างกับจิตที่อยู่ในบุญกุศล อยู่ในทาน – ศีล – ภาวนา มีแต่ประพฤติปฏิบัติไปยิ่งเยือกเย็นเป็นสุข มีความสดชื่นเอิบอิ่มใจ พิจารณาอารมณ์ทั้งสองอย่าง แล้วนึกเปรียบเทียบอารมณ์ ทั้งหลายต่าง ๆ เหล่านี้ดู จิตจักได้ไม่บริโภคอารมณ์ที่เป็นพิษ เพราะปกติจิตมักไหลลงสู่อารมณ์ที่เป็นกิเลส ถูกอกุศลกรรมเข้าครอบงำจิต มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จิตชินกับความเลวมากกว่าความดี ดังนั้นเวลานี้จักมาละความเลวกันก็ต้องละกันที่จิต ฝึกจิตให้อยู่กับทาน – ศีล – ภาวนา ให้จิตติดดีมากกว่าติดเลว
๑๖. การสอบอารมณ์ของจิต เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง อย่าคิดว่าบุญ – ทานไม่ติดแล้ว ฉันไม่เกาะ ถ้าหากสำรวจแล้วจิตยังติดเลว อยู่มากเพียงใด บุญ – ทานยิ่งไม่เกาะ จิตก็ยิ่งเศร้าหมองมากเพียงนั้น เพราะทำบุญทำทานไปก็เหมือนไม่มีผล จิตไม่ยินดี ไม่สดชื่นไปกับบุญ – ทานนั้น หากแต่ทำก็ทำไป จิตไม่ยินดี จิตกลับไม่มีอารมณ์ติดบาปติดอกุศล อย่างนี้นับว่าขาดทุนแท้ๆ พระอรหันต์ท่านก็ยังทำบุญ ทำทาน ด้วยความยินดีและเต็มใจ ทำด้วยความเมตตากรุณา จิตเป็นสุข”
๑๗. คำว่าไม่เกาะกล่าวคือ ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ จิตไม่เกาะบุญ – บาปในที่นี้ เนื่องด้วยผลบุญ ผลบาปไม่สามารถให้ผลแก่จิตใจของท่านอีก (หมายถึงพระอรหันต์) แล้วพวกเจ้าเล่า จิตยังข้องอยู่ในบาปอกุศลเป็นอันมาก จักฝึกจิตให้จิตยินดี อยู่ในบุญ-กุศล มีความสุข สดชื่นบ้างไม่ดีกว่าหรือ ดังนั้นจงอย่าพูดว่า ไม่ติดในบุญในทาน เพราะจิตยังติดอยู่ในบาป – อกุศล พระอรหันต์ ท่านยังไม่ทิ้งจาคานุสสติกรรมฐาน ท่านมีอภัยทานอันเป็นทานสูงสุด เกิดขึ้นด้วยพรหมวิหาร ๔ เป็นอัปมัญญา ท่านไม่ข้องอยู่ในบาป – อกุศลของบุคคลรอบข้าง เพราะท่านมีอภัยทานอยู่ในจิตเสมอ แล้วพวกเจ้ามีแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้น จงอย่าประมาทในอกุศลกรรม รักษาจิตให้เป็นสุขสดชื่น ด้วยการระลึกนึกถึงบุญ (การทำบุญ) การทำทาน หรือรักษาศีล – เจริญภาวนาด้วยจิตยินดีทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพาน ดีกว่าปล่อยให้จิตตกเป็นทาสของบาปอกุศล
หมายเหตุ
๑. พระพุทธองค์ทรงยกตัวอย่างให้ดู หลวงพ่อฤๅษีซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของพวกเราว่า แม้ท่านจะจบกิจเป็นพระอรหันต์มาหลายสิบปีแล้ว ท่านก็ไม่เคยทิ้งการทำบุญ – ทำทาน – ทำกุศล ให้พวกเราทุกคนปฏิบัติตามท่าน
๒. บุคคลที่ฉลาด ทรงสอนให้ตัดหรือละสักกายทิฎฐิข้อเดียว ก็จบกิจในพระพุทธศาสนาได้
๓. คำสั่งสอนของพระองค์มี ๘๔,๐๐๐ บท สรุปแล้วเหลือประโยคเดียวคือ จงอย่าประมาท ในทุก ๆ กรณี หรือ จงพร้อมอยู่ในความไม่ประมาท
——————————————————–
ที่มา : ความไม่ประมาทมี ๑๗ ข้อ และหมายเหตุ
http://tangnipparn.com/page2_b00k3.html