แซยิด คืออะไร
แซยิด
น. วันที่มีอายุครบ ๕ รอบนักษัตร คือ ๖๐ ปีบริบูรณ์ตามคติของจีน เรียกการทําบุญในวันเช่นนั้นว่า ทําบุญแซยิด. (จ.).
สมบูรณ์ สุขสำราญ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรมของชุมชนชาวจีน” ว่า
พิธีแซยิดถือเป็นพิธีกรรมผ่านช่วงอายุ (Rite of Passage)ที่สำคัญพิธีหนึ่ง ชาวจีนถือว่า เมื่อบุคคลมีอายุครบ ๖๐ ปี แสดงว่าบุคคลนั้นได้บรรลุความเป็นคนอย่างสมบูรณ์ เพราะได้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มาครบ มีประสบการณ์เกือบทุกด้าน ชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับพิธีนี้ โดยถือว่าบุคคลที่อายุครบ ๖๐ ปี หรือ ๕ รอบอายุ ได้บรรลุความเป็นผู้อาวุโสทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน พิธีแซยิดจึงเป็นทั้งกิจกรรมในระดับครอบครัวและชุมชนเพราะนอกจากจะมีสมาชิกในครัวเรือนมาร่วมด้วยแล้ว คนในชุมชนจะมาร่วมพิธีฉลองเพื่อรับรู้ความเป็นผู้อาวุโสอีกด้วย
ก่อนจะถึงวันครบรอบอายุ ๖๐ ปี ลูกหลานจะตระเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่และข้าวของที่จะใช้สำหรับงานเลี้ยงไว้ให้พร้อมสำหรับผู้เป็นเจ้าของงานที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาก็อาจไปรักษาศีลกินเจหรืออยู่ในวัดจีนก่อนเป็นเวลา ๓ วัน ในเช้าวันเกิดจะอาบน้ำชำระร่างกาย ตัดผม ตัดเล็บมือเล็บเท้า สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ นำเครื่องเซ่นไหว้ไปเซ่นไหว้เจ้าในบ้านและวิญญูาณบรรพบุรุษ ถึงตอนสาย ฝ่ายญาติพี่น้องเพื่อนฝูงและคนในชุมชนที่ได้รับเทียบเชิญก็จะส่งของมาคำนับ โดยมากจะเป็นแผ่นป้ายเขียนคำมงคลเป็น ๒ ผืนคู่กัน เรียกว่า “ตุ้ยเลี้ยง” หรืออาจนำผ้าแพรหรือสุรามา ครั้นถึงเวลาเที่ยง แขกรับเชิญจะมาร่วมงานพิธีโดยมีตัวแทนลูกหลานฝ่ายหนึ่ง และตัวแทนชุมชนอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวสรรเสริญถึงความดีและผลงานที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องดี ๆ พร้อมทั้งอวยพรให้มีความสุข และมีลูกหลานดี ๆหลังจากนั้นจึงร่วมรับประทานอาหาร
สำหรับผู้มีฐานะดีเป็นที่รู้จักกว้างขวางในชุมชน สมาคมต่าง ๆ ที่สังกัดอยู่อาจจัดงานเลี้ยงให้ และต่อจากนั้นอาจได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น กรรมการสมาคมต่าง ๆ ในฐานะผู้อาวุโสของชุมชน
พิธีแซยิดของชาวจีนถือเป็นพิธีที่แสดงออกถึงการมีครอบครัวใหญ่ ผู้อาวุโสของครอบครัวมีอายุยืนยาว และเป็นการตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของระบบอาวุโสในธรรมเนียมของจีน ดังมีภาษิตบทหนึ่งว่า “ผู้ร่วมทำการค้าขายต้องมีอายุรวมกันเกิน ๑๐๐ ปี” คนจีนถือว่าถ้าห้างร้านใดมีผู้ก่อตั้งหรือร่วมหุ้นอายุยังน้อย ประสบการณ์และความเชื่อถือก็น้อยลงไปด้วย โอกาสที่จะทำการค้าสำเร็จอาจจะลดน้อยลงไปด้วย
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”
ขอบคุณที่มาจาก http://guru.sanook.com/12257/แซยิด/