น้อมส่งสู่นิพพาน หลวงตาบุญหนา ธัมมทินโน วัดป่าโสตถิผล จ.สกลนคร
น้อมส่งสู่นิพพาน
หลวงตาบุญหนา ธัมมทินโน วัดป่าโสตถิผล จ.สกลนคร
หลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน เกิดวันที่ 5 กรกฎาคม 2474 แรม 6 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม เข้าบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 12 ปี เป็นศิษย์ธรรมสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในบวรพุทธศาสนา พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นสุดท้ายที่ดำรงอยู่ ณ วัดป่าโสตถิผล
ศิษย์ธรรมสาย “หลวงปู่มั่น” หลวงตาบุญหนา ธัมมทินโน พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยชื่อดังรูปหนึ่งแห่งเมืองสกลนคร ซึ่งถือได้ว่าเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นสุดท้ายที่ยังดำรงอยู่ ณ วัดป่าโสตถิผล บ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ท่านเป็นหลานแท้ๆ ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่ออายุ 12 ปีได้เข้าพิธีบรรพชา ณ วัดแจ้ง บ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่านเอง หลวงปู่บุญหนา ท่านได้ปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์นานถึง 12 ปี ตั้งแต่ครั้งสมัยเป็นสามเณร เช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นหลวงอาได้นำท่านมาอยู่ด้วย และโดยเฉพาะกับพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ศิษย์สายธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในช่วงที่เป็นสามเณรอยู่กับพระอาจารย์อ่อนเคยไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เป็นประจำ โดยมีพระอาจารย์อ่อนนำพาไป สาเหตุที่ได้ปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์อ่อน ด้วยพระอาจารย์อ่อนเดินธุดงค์มาพำนักหาความสงบวิเวกอยู่ที่บริเวณป่าช้าบ้าน หนองโดก (ปัจจุบันคือวัดป่าโสตถิผล หรือวัดป่าบ้านหนองโดก) ตอนนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณร แต่เป็นฝ่ายมหานิกาย พักอยู่วัดแจ้ง บ้านหนองโดก เป็นวัดบ้านของท่านเอง และไม่ไกลจากป่าช้าที่พระอาจารย์อ่อนไปพักอยู่นั้นมากนัก
หลวงปู่บุญหนาท่านบอกว่า ตอนที่ไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ครั้งแรกไปกับพระอาจารย์อ่อน พร้อมกับสามเณรอีกรูปหนึ่งและญาติโยม 4-5 คน เดินมุ่งหน้าสู่เทือกเขาภูพานที่อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านหนองโดก ก่อนเดินทางถึงวัดป่าบ้านหนองผือ เวลาประมาณบ่าย 3 โมง พอเข้าไปภายในบริเวณวัด รู้สึกว่าภายในวัดร่มรื่นสงบเงียบ เหมือนกับไม่มีพระเณรทำให้ตื่นตาตื่นใจเป็นครั้งแรก เห็นพระเณรกำลังทำกิจวัตรกวาดลานวัดด้วยไม้ตาด ส่วนพระอาจารย์อ่อน พร้อมคณะ เข้าไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นบนกุฏิ เสร็จแล้วก็กลับที่พัก ปัดกวาดลานวัด ตักน้ำใช้น้ำฉันจากบ่อน้ำ เสร็จจากนั้นก็เตรียมรอสรงน้ำพระอาจารย์มั่นบริเวณหน้ากุฏิ ซึ่งมีพระเตรียมน้ำสรงไว้โดยใช้น้ำร้อนผสมพอให้อุ่น เมื่อพระอาจารย์มั่นเข้ามานั่งบนตั่งแล้ว คราวนี้พระเณรทั้งหลายห้อมล้อม เพื่อเข้าไปถูหลังขัดไคลถวายอย่างเปี่ยมล้นด้วยศรัทธา ส่วนสามเณรบุญหนา มีโอกาสเข้าไปร่วมสรงน้ำท่านพระอาจารย์มั่นในครั้งนี้ด้วย
เมื่อพระอาจารย์มั่นเห็นท่านซึ่งเป็นสามเณรมาใหม่ พระอาจารย์มั่นจึงพูดสำเนียงอีสานขึ้นว่า “เณรมาแต่ไส…” แต่สามเณรบุญหนาไม่ทันตอบ มีพระอาจารย์ทองคำตอบแทนว่า “เณรมากับครูบาอ่อน ข้าน้อย” จากนั้นท่านไม่ได้ว่าอะไรต่อไป จนเสร็จจากการสรงน้ำท่านในวันนั้น นอกจากนี้ ท่านยังได้ปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์อื่นๆ อีก เช่น พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม พระอาจารย์ลี ธัมมธโร พระอาจารย์แหวน สุจิณโณ พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร และพระอาจารย์จาม มหาปุญโญ เป็นต้น
หลวงตาบุญหนา ได้มาพำนักจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าโสตถิผล บ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นับได้ว่าท่านเป็นพระอริยสงฆ์ที่ควรค่าแก่การกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจอีกรูป หนึ่งที่ยังเหลืออยู่ หลวงปู่บุญหนา ได้ให้สติแก่ญาติโยมผู้เดินทางมากราบนมัสการเสมอว่า ให้เป็นผู้มีสติ ระลึกรู้ในกาย สติระลึกรู้ในวาจาคำพูด สติระลึกรู้ในใจ เมื่อสติรู้ซักซ้อมอยู่ภายในกาย วาจา และใจแล้ว ทำ พูด คิด ถูกและผิด ก็ระลึกรู้อยู่ ปรับปรุงอยู่อย่างนี้เสมอ ซึ่งเป็นคำสอนของพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ที่ได้เล่าเรื่องของท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เทศน์แสดงธรรมสั้นๆ ในช่วงที่เคยเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่นครั้งนั้นว่า “กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต กายบริสุทธิ์ วาจาบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์”
หลวงตาบุญหนาจึงเป็นเนื้อนาบุญของชาวสกลนครเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การยกย่องโดยแท้
หลวงตาบุญหนาละสังขารลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2559 เวลา 14.52 น. ณ วัดป่าโสตถิผล บ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร