web analytics
พระเครื่อง

เหรียญรุ่นแรกและพระเครื่องรุ่นสุดท้ายของสมเด็จพระสังฆราชฯ

เหรียญรุ่นแรกและพระเครื่องรุ่นสุดท้ายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ‘เจริญ สุวฑฺฒโน’ : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

“เหรียญพระรูปเหมือนรุ่นแรก สมเด็จพระสังฆราช” เป็นเหรียญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นมาเพื่อถวายเป็นเครื่องบูชาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระญาณสังวร” ในวาระที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ในฐานะที่ทรงเคยเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในคราวเสด็จฯ ออกทรงพระผนวชประทับบำเพ็ญพระสมณธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ (ระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม-๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙) เป็นเวลา ๑๕ วันในการจัดสร้างเหรียญพระรูปเหมือนรุ่นแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ โดยกองกษาปณ์ (ปัจจุบันเป็นสำนักกษาปณ์) กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง  ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเป็น ๒ เนื้อ และ ๒ ขนาด คือ เนื้อทองคำ ขนาดเล็ก จำนวน ๑๐๐ เหรียญ (ขนาดเล็กมีเนื้อทองคำเท่านั้นไม่มีเนื้อทองคำขนาดใหญ่โดยเด็ดขาด ถ้ามีเป็นของปลอมครับ) และขนาดใหญ่จำนวน ๓๐,๐๐๐ เหรียญ และมีเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น เนื้ออื่นๆ ไม่มีโดยเด็ดขาด ถ้ามีเหรียญขนาดใหญ่เป็นเนื้ออื่นๆ นอกเหนือจากเนื้อทองแดง และปัจจุบันเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเพราะเป็นเหรียญรุ่นแรกของสังฆราชองค์ปัจจุบัน ถูกบรรจุอยู่ในรายการประกวดพระเครื่องทุกงาน

ส่วนเหรียญรุ่น ๒ สร้าง เมื่อปี ๒๕๒๙ วงการเล่นหาเป็นเหรียญรุ่นสองรูปเหมือนของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชท่านได้รับพระบรมราชานุญาตให้จำลองแบบมาจากเหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๕๒๘ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาออกแบบ จัดสร้างถวายด้วยพระองค์เอง และได้พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.มาประดิษฐานไว้ที่ด้านหลังอีกด้วย นับเป็นสิริมงคลคู่อันประเสริฐสุด ยากจะหาเหรียญรูปเหมือนพระคณาจารย์ใดเสมอเหมือนได้

ส่วนความแตกต่างของเรียกรุ่นแรก และรุ่น ๒ นั้น จะแตกต่างกัน ก็เพียงแต่เปลี่ยนประโยคหลังเหรียญ “๓ ตุลาคม ๒๕๒๘” ในรุ่นแรกมาเป็น “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” เท่านั้น แต่ส่วนอื่น ล้วนมีความเหมือนกันในทุกประการ

อย่างไรก็ตามเหรียญสมเด็จพระญาณสังวร ฯ รุ่น ๒ ร.พ.จุฬาฯ จะเข้าพิธีมากกว่าและใหญ่กว่า โดยได้เข้าร่วมพิธีกริ่งปวเรศ ๒ ปี  ๒๕๓๐ อันโด่งดังทั้งที่วัดบวรนิเวศวิหาร  ถึง ๒ วาระและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) อีกด้วย แต่ในสายตาของคนทั่วไปอาจจะเห็นว่า มีศักดิ์ศรีและความนิยมอาจจะไม่เท่ากับเหรียญรุ่นแรก  ด้วยความยึดมั่นที่ว่า เป็น “รุ่น ๒”
พระกริ่งปวเรศรุ่น๒พ.ศ. ๒๕๓๐
พระกริ่งปวเรศ รุ่น ๒ นี้จัดว่าเป็นสุดยอดพระกริ่งของวงการพระเครื่องก็ว่าได้ สร้างที่วัดบวรนิเวศวิหาร  เมื่อปี ๒๕๓๐ เนื่องจากทางวัดได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดสร้างขึ้น เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ  ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเททองหล่อปฐมมหามงคลฤกษ์ ณ บริเวณพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๗  ธันวาคม ๒๕๒๙

การสร้างพระกริ่งปวเรศ ปี ๓๐ และพระชัยวัฒน์ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีหล่อแบบโบราณนี้ จะได้องค์พระที่ไม่สวยคมชัดไปทั่วทั้งหมด ผิวพระที่ได้จากการหล่อจะมีรูพรุน มากบ้าง น้อยบ้าง จึงต้องทำการตกแต่งด้วยตะไบ ซึ่งทางวัดได้จัดสถานที่และคณะช่างที่จะทำการตกแต่งพระ รวมทั้งการบรรจุ เส้นพระเจ้าของของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผงจิตรลดาที่ได้รับพระราชทาน และบรรจุเม็ดกริ่ง ภายในวัดทั้งหมดทุกขั้นตอน โดยห้ามนำพระกริ่งออกจากสถานที่โดยเด็ดขาดและมีการตรวจตราอย่างเข้มงวดอีกด้วย

ส่วนพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งปวเรศและพระชัยวัฒน์ ปี ๓๐ ครั้งที่ ๑ วันเสาร์ที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๒๙ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธี และสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานพิธีอธิษฐานจิต มีพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง หลายรูปร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต

พิธีพุทธาภิเษก ครั้งที่ ๒ พิธีวันวิสาขบูชา วันพุธที่ ๒๑ และวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ณ พระอุโบสถ
วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวร เป็นประธานในพิธี

พิธีพุทธาภิเษก ครั้งที่ ๓ พิธีพุทธาภิเษกอย่างเป็นทางการ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธี สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) วัดราชบพิธฯ ทรงจุดเทียนชัย สมเด็จพระญาณสังวร เป็นประธานพิธีอธิษฐานจิต ร่วมกับพระภาวนาจารย์อีก ๓๖ รูป จากภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต
พระเครื่องรุ่นสุดท้าย
พระหลวงพ่อทวด มงคลมหาบารมี ๘๕ จัดสร้างขึ้น เนื่องในโอกาสปีมหามงคล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เจริญพระชันษาครบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ โดยได้อัญเชิญตราประจำวัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งประกอบด้วยตราสัญลักษณ์อันเป็นมงคลยิ่ง ๒ ประการคือ ธรรมจักร อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และ พระนามาภิไธย “สธ” มาประดิษฐานยังองค์หลวงพ่อทวด

วัตถุประสงค์การจัดสร้างพระหลวงพ่อทวด รุ่นมงคลมหาบารมี ๘๕ เพื่อสมทบทุนจัดสร้างอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระสังฆราช เพื่อการศึกษาในมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์  ของ “วัดสิรินธรเทพรัตนาราม” ทั้งนี้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้ประทานมวลสารอันเป็นมวลสารที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง นำมาเป็นชนวนมวลสารจัดสร้าง นอกจากนี้ ยังมีมวลสารที่เป็นมงคลอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งรวบรวมจาก ๗๗ จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งได้รับเมตตาอนุเคราะห์จากคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิและพระเกจิต่างๆ ช่วยลงอักขรยันต์อันเป็นยันต์ที่ศักดิ์สิทธิ์

พระหลวงพ่อทวด รุ่นมงคลมหาบารมี ๘๕ ได้ประกอบพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณหลวงพ่อทวด ณ สถูปเจดีย์ หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี ในวันพุธที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๐.๑๙  น.โดยพระธรรมวราจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รักษาการเจ้าอาวาสวัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธี

พิธีเททองนำฤกษ์วัตถุมงคลหลวงพ่อทวด รุ่นมงคลมหาบารมี ๘๕ ประกอบพิธี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๖.๓๙ น. มีสมเด็จพระมหามุนีวงศ์เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรม การมหาเถรสมาคม เป็นประธานในพิธี

การจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อทวด รุ่นมงคลมหาบารมี ๘๕ ในครั้งนี้ วัตถุมงคลทุกแบบพิมพ์จัดสร้างจำนวนจำกัด เนื้อทองคำ ๙๙ องค์ เนื้อเงิน ๑,๙๙๙ องค์ เนื้อนวโลหะ ๓,๙๙๙ องค์ เนื้อทองทิพย์ ๕.๙๙๙  องค์ เนื้อว่าน ๙,๙๙๙ องค์ ส่วนพิมพ์เสมาหน้ากากทองคำ ๔๙๙ องค์

ส่วนพิธีพุทธาภิเษกจัดขึ้น ณ อุโบสถ วัดบวรฯ เวลา ๑๔.๑๙ น.ของวันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น.ของวันเดียวกัน ซึ่งในวงการพระเครื่องถือว่าเป็นรุ่นสุดท้ายที่ปลุกสกขณะที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่

“เหรียญพระรูปเหมือนรุ่นแรก สมเด็จพระสังฆราช เป็นเหรียญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นมาเพื่อถวายเป็นเครื่องบูชาสมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระญาณสังวร” ในวาระที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ในฐานะที่ทรงเคยเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในคราวเสด็จฯ ออกทรงพระผนวช”

ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก นสพ.คมชัดลึก

Facebook Comments
แบ่งปันลิงค์นี้ :