น้อมส่งสู่นิพพาน พ่อท่านฉิ้น วัดเมืองยะลา
พระธรรมสิทธิมงคล (พ่อท่านฉิ้น โชติโก) เจ้าอาวาสวัดเมืองยะลา
มรณภาพแล้วอย่างสงบ เมื่อเวลา 19.00 น. ที่ผ่านมา สิริอายุ 90 ปี 69 พรรษา กำหนดการพิธีศพจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
ประวัติและปฏิปทา พระธรรมสิทธิมงคล (พ่อท่านฉิ้น โชติโก)
วัดเมืองยะลา ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา
๏ อัตโนประวัติ
“พระธรรมสิทธิมงคล” หรือ “หลวงพ่อฉิ้น โชติโก” หรือ “พ่อท่านฉิ้น โชติโก” เจ้าอาวาสวัดเมืองยะลา และเจ้าคณะจังหวัดยะลา ผู้เป็นแม่ทัพธรรมค้ำจุนพระพุทธศาสนา เสริมสร้างสันติสุขให้กลับคืนสู่ดินแดนด้ามขวานทอง ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์สายตรง “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” และเป็นทั้งศิษย์และสหธรรมิกของ พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร แห่งวัดช้างไห้ ต.ป่าไร่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
พ่อท่านฉิ้น โชติโก มีนามเดิมว่า ฉิ้น ทองกาวแก้ว ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2469 ณ บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 1 ต.วัดสน อ.ระโนด จ.สงขลา
ชีวิตในวัยเยาว์ เมื่ออายุ 12 ปี ได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนวัดสามบ่อ ต.วัดสน อ.ระโนด จ.สงขลา แต่พอเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ไม่สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงได้ เนื่องจากฐานะความเป็นอยู่ของทางบ้านที่ค่อนข้างยากจน มีภาระต้องใช้จ่ายมาก
๏ การบรรพชาและการอุปสมบท
แต่ด้วยมีใจใฝ่ศึกษาหาความรู้เสริมเป็นมงคลชีวิต ทำให้ท่านเบนเข็มชีวิต สละชีวิตทางโลกมุ่งสู่ร่มธรรมแห่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบรรพชาเป็นสามเณร ณ พัทธสีมาวัดสามบ่อ ต.วัดสน อ.ระโนด จ.สงขลา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2485 โดยมี พระครูปทุมธรรมธารี เจ้าอาวาสวัดสามบ่อ เป็นพระอุปัชฌาย์
ภายหลังบรรพชาเป็นสามเณร ท่านได้เริ่มต้นศึกษาพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ในสำนักเรียนจังหวัดสงขลา พ.ศ.2486 สอบได้นักธรรมชั้นโท
พ.ศ.2488 ออกเดินทางไปศึกษาต่อที่วัดพุทธภูมิ อ.เมืองจ.ยะลา จนกระทั่งอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม เพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยวิธีญัตติกรรม เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2490 ณ พัทธสีมาวัดสามบ่อ จ.สงขลา โดยมี พระครูปทุมธรรมธารี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอธิการคำ วัดสน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “โชติโก” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีธรรมอันเจริญรุ่งเรือง”
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินทางกลับมาศึกษาเล่าเรียนอยู่จำพรรษาที่วัดพุทธภูมิดังเดิม
พ.ศ.2492 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักวัดพุทธภูมิ อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมกับเริ่มงานรับภารกิจคณะสงฆ์ในการอบรมข้าราชการใน อ.รามัน จ.ยะลา
พ.ศ.2494 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค จากสำนักวัดพุทธภูมิ อ.เมือง จ.ยะลา ในปีเดียวกันนั้น ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพุทธภูมิ และเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนไปด้วย
รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด”
ภาพเขียนสีน้ำมัน “พระอาจารย์ทิม ธัมมธโร”
๏ การก่อสร้างวัดเมืองยะลา
ในปี พ.ศ.2495 สืบเนื่องจากทางจังหวัดยะลา ได้มีการย้ายสถานที่สร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่แทนหลังเดิม เพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีจึงสมควรสร้างวัดในพระพุทธศาสนาไว้คู่กัน ดังนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน 11174 จำนวนเนื้อที่ 55 ไร่ 51 งาน 12 ตารางวา ให้เป็นที่ตั้งวัด
การก่อสร้างวัดเมืองยะลา จึงเริ่มขึ้นในกาลต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2502 คณะกรรมการฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ในจังหวัดยะลา ประกอบด้วย พระราชปัญญารังษี (หลวงพ่อเนื่อง ธัมมจักโก) วัดนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี, พระมหาฉิ้น โชติโก ขณะนั้นรักษาการเจ้าอาวาสวัดสุนทรประชาราม อ.รามัน จ.ยะลา และรักษาการเจ้าคณะตำบลรามัน อ.รามัน จ.ยะลา (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมสิทธิมงคล), นายย้อย เปรมไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด, นายสุบรรณ จันทรสถิตย์ สรรพากรจังหวัด, พลตำรวจตรีพงศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด, นายสาลี่ กูลณรงค์ นายกเทศมนตรี และนายเจริญ จันทรสุวรรณ คหบดี เป็นคณะเริ่มต้นในการหักร้างถางพงป่าดำเนินการก่อสร้างวัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น
หลังจากนั้นอีก 4 ปี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2506 กระทรวงศึกษาธิการได้มีการประกาศแต่งตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นเป็นวัด มีชื่อว่า “วัดเมืองยะลา” ที่ได้นามเช่นนี้เพื่อให้เป็นวัดที่สร้างคู่บ้านคู่เมือง และอยู่ในเขตเทศบาลเมืองยะลา ครั้นต่อมาใน พ.ศ.2507 พระมหาฉิ้น โชติโก ได้รับตราตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเมืองยะลา เป็นรูปแรก รวมทั้ง วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา อาณาเขตกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร เป็นวัดอันดับที่ 127 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 82 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2508
วัดเมืองยะลา ตั้งอยู่ในเทศบาลเมืองยะลา ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา ติดริมถนนสุขยางค์ที่เชื่อมระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย บัดนี้ได้พัฒนาจนเจริญรุ่งเรืองเป็นเวลานานกว่า 5 ทศวรรษ โดยมีอายุครบ 50 ปีในปีพุทธศักราช 2552 โดยเป็นวัดที่ได้รับความอุปถัมภ์อุปัฏฐากจากข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เสนาสนะสิ่งก่อสร้างบริเวณวัดมีอาณาเขตที่ชัดเจน ทัศนียภาพภายในวัดดูร่มรื่นเย็นใจ สวยงาม จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างและวัดพัฒนาดีเด่น สมกับเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดยะลา
ศาสนวัตถุที่สำคัญของวัดเมืองยะลา อาทิเช่น อุโบสถ, พระพุทธิชัยลาภมงคล พระประธานในอุโบสถ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานนามบัญญัติ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ พระมหากัจจายนเถระ ขนาดองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง หน้าตักกว้าง 6.30 เมตร สูงทั้งองค์และฐาน 10.70 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2505 ในปีต่อมา พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานดวงพระเนตรพระมหากัจจายนเถระ วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแห่งองค์พระอริยสาวก เป็นอุบายธรรมให้ผู้คนที่ได้พบเห็นกราบไหว้สักการบูชาน้อมรำลึกเป็นสังฆานุสติ และเป็นศรีสง่าคู่วัดคู่เมืองยะลา
๏ ลำดับงานการปกครอง
พ.ศ.2494 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพุทธภูมิ
พ.ศ.2507 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเมืองยะลา
พ.ศ.2528 เป็นเจ้าคณะอำเภอเบตง-ธารโต จ.ยะลา
พ.ศ.2539 รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดยะลา
พ.ศ.2541 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดยะลา
ล็อกเก็ตพ่อท่านฉิ้น โชติโก
๏ ผลงานด้านการศึกษาคณะสงฆ์
พ.ศ.2509 เปิดสำนักเรียนพระปริยัติธรรมพระภิกษุ-สามเณร
พ.ศ.2522 อนุญาตให้เทศบาลนครยะลาตั้งโรงเรียนเทศบาล 6 ในที่ดินวัดเมืองยะลา
พ.ศ.2537 ตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดเมืองยะลา
พ.ศ.2538 จัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกสามัญ ในวัดเมืองยะลา เพื่อให้พระภิกษุ-สามเณรได้ศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม รวมทั้ง จัดตั้งศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ วัดเมืองยะลา
พระธรรมสิทธิมงคล (พ่อท่านฉิ้น โชติโก) มีแนวคิดให้วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือสังคมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากเป็นแหล่งเผยแผ่ธรรมะ ให้ความรู้อบรมสั่งสอนธรรมะ ชี้แนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง อบรมศีลธรรมจริยธรรมให้แก่เยาวชน ให้การศึกษาอบรมแก่พระภิกษุ สามเณร ให้การสงเคราะห์แก่ผู้ด้อยโอกาสแล้ว แนวทางที่จะช่วยสังคมอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม คือ ช่วยเหลือด้านการศึกษา
ด้วยท่านเป็นธุระกับการจัดการศึกษาอย่างแข็งขัน มีการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้โอกาสแก่นักเรียนนักศึกษา ที่มีปัญหาเรื่องเงินทุน ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีความตั้งใจที่จะศึกษาเล่าเรียน ทุกระดับชั้นในระดับอนุบาลถึงระดับปริญญา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ถึงปัจจุบัน สำหรับเงินทุนที่ท่านจัดไว้เพื่อบริจาคนั้นเป็นเงินที่ญาติโยมถวายในโอกาสต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคสมทบของผู้มีจิตศรัทธา
นอกจากนี้ ท่านได้มีแนวคิดโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตชายแดนภาคใต้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของคณะสงฆ์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตามกระบวนการไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) และเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นให้พระพุทธศาสนา เพื่อนำหลักธรรมที่ถูกต้องไปเผยแผ่สู่ประชาชน สร้างความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิตและสังคม
รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสให้เยาวชนที่ด้อยโอกาสได้รับการศึกษา เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น ชาติจะมั่นคงขึ้นได้อนาคตของชาติจะต้องมีการศึกษา
๏ ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.2509 เป็นพระครูปลัดฉิ้น โชติโก พระครูปลัดฐานานุกรมของพระราชปัญญาเมธี เจ้าคณะจังหวัดยะลา
พ.ศ.2511 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษที่ พระครูไพโรจน์ธรรมรัต
พ.ศ.2535 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษที่ พระครูวิเทศสมันตพิทักษ์
พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระไพศาลประชานารถ (รักษาการเจ้าคณะจังหวัดยะลา)
พ.ศ.2545 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปัญญาโสภณ
พ.ศ.2547 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพศีลวิสุทธิ์
ล่าสุด ในปี พ.ศ.2550 ในวโรกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ “พระธรรมสิทธิมงคล” สร้างความปีติยินดีต่อพุทธศาสนิกชนชาวเมืองยะลาเป็นอย่างยิ่ง
พระธรรมสิทธิมงคล (พ่อท่านฉิ้น โชติโก)
๏ ปริญญากิตติมศักดิ์และเกียรติคุณดีเด่น
พ.ศ.2537 ได้รับเกียรติถวายปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การพัฒนาชุมชน) จากสภาการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ.2548 ได้รับเกียรติถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และได้รับพระราชทานโล่เสมาธรรมจักร ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประเภทสงเคราะห์ประชาชน ประจำปี 2548 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
๏ คติธรรมคำสอน
คติธรรมคำสอนของพ่อท่านฉิ้น โชติโก เกิดจากความคิด ประสบการณ์จริงในการสร้างงานสร้างคน เพื่ออบรมสั่งสอนให้ประชาชนเป็นคนดี เรียบเรียงถ้อยคำนำเสนอด้วยมรรควิธีที่โดดเด่น ลึกซึ้ง กินใจ ดั่งคติธรรมคำสอน ดังนี้ “ความสำคัญของชีวิต อยู่ที่เราประกอบความดีไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง นั้นเป็นการสกัดกั้นความชั่วร้ายที่คอยทำลายชีวิตอันมีค่าให้หมดสิ้นไป หยุดประกอบความดีเมื่อไร ความชั่วได้โอกาสเมื่อนั้น ฉะนั้น การสอนคนอื่นอย่าลืมสอนตัวเองด้วย เพราะการสอนตัวเองทำให้ชีวิตมีค่าขึ้น และทำให้ประกอบความดีมากขึ้น”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคติธรรมคำสอน และอีกหลายเรื่องที่ลึกซึ้งกินใจ หากจดจำนำเอาเป็นแบบอย่างใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ย่อมยังความเจริญรุ่งเรืองสู่สังคมและประเทศชาติได้เป็นอย่างดี
๏ ดำริแนวทางในการแก้ปัญหาไฟใต้
สำหรับแนวทางที่ใช้ในการแก้ปัญหาไฟใต้ พระธรรมสิทธิมงคล (พ่อท่านฉิ้น โชติโก) มีดำริว่า “การศึกษาสามารถเยียวยาปัญหาไฟใต้ได้ในระดับหนึ่ง เพราะการศึกษาทำให้เกิดความรู้ ความรู้ทำให้เกิดความสามารถ ความสามารถทำให้เกิดความสามัคคี ความสามัคคีทำให้เกิดความสงบสุข เรียนรู้ รับรู้ ถ้าไม่เรียนรู้ รับรู้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ วิธีแก้ปัญหา ปลุก ปรับ ปลอบ ต้องดูว่าความเดือดร้อนอยู่ตรงไหน ต้องรู้มูลเหตุ”
“การแก้ปัญหาปากกับใจต้องตรงกัน ถือสัจจะเป็นสำคัญ คนที่ไม่ควรนำมาแก้ปัญหา คือคนที่ไม่รู้สภาพของปัญหา คนโกง และอย่าแก้ปัญหาโดยใช้เงิน”
“การศึกษาทำให้คนมีปัญญา เมื่อคนเกิดปัญญาย่อมเข้าใจในปัญหา แก้ปัญหาได้สำเร็จ ทำให้แผ่นดินภาคใต้สงบสันติ อยู่ร่วมกันได้ในสังคม แม้จะนับถือศาสนาแตกต่างกันบ้างแต่มิใช่อุปสรรค เพราะทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน”
๏ เป็นเสาหลักทรงไว้ซึ่งคุณธรรม
พ่อท่านฉิ้น โชติโก เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ที่สูงด้วยพรรษายุกาล ปัจจุบัน สิริรวมอายุได้ 85 ปี พรรษา 64 (เมื่อปี พ.ศ.2554) ท่านจะตื่นแต่เช้าจับไม้กวาด กวาดลานวัดเป็นกิจวัตรประจำวัน ปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานานนับสิบปี สุขภาพกายพลานามัยแข็งแรง สุขภาพใจเยือกเย็น เปี่ยมเมตตา เป็นแบบอย่างพระผู้นำให้ผู้อื่นได้ปฏิบัติตามได้เป็นอย่างดี เรียกว่าสอนคนด้วยการทำตัวอย่างให้ดู หลังจากเวลาฉันภัตตาหารแล้ว ขึ้นโรงธรรมรับรองแขก วันไหนไม่มีผู้มาเยือน พ่อท่านจะเดินตรวจตราบริเวณวัดไปทั่ว จึงนับได้ว่าท่านเป็นเสาหลักทรงไว้ซึ่งคุณธรรม ยังความเคารพเลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนชาวยะลาตลอดไป
พระธรรมสิทธิมงคล (พ่อท่านฉิ้น โชติโก)
…………………………………………………….
♥ รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด
วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6744