“พระคาถาพญาไก่เถื่อน” โดยสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน พุทธคุณเมตตามหานิยม
ไก่เป็นสัตว์ขี้ระแวง เวลาจิกกินอาหารจะผงกหัวขึ้นมองรอบตัวอยู่ไม่ขาด หากมีเสียงผิดปกติจะกระโตกกระตากหรือส่งเสียงดังลั่น ยิ่งไก่ป่าด้วยแล้วจะยิ่งระวังภัยรอบทิศ ไม่ยอมเฉียดกรายเข้าใกล้บ้านคนเลย ไก่ป่าที่จะประพฤติตัวเป็นไก่บ้านจึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะเป็นไปได้
แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็กลับเป็นไปได้แล้วที่วัดราชสิทธาราม ฝั่งธนบุรี เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ทรงมีประรามเดิมว่า สุก ประสูติเมื่อวันศุกร์ขึ้น 10 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1095 ตรงกับวันศุกร์ ที่ มกราคม พุทธศักราช 2276 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ พระองค์ทรงเป็นชาวกรุงเก่า ไม่ปรากฏพระนามบิดามารดา ทรงเป็นพระสังฆราชองค์ที่ ๔ ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านเป็นพระมหาเถระที่ทรงคุณในทางวิปัสสนาญาณ
แต่แทนที่ท่านจะมีชื่อเสียงในทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือการเป็นเกจิอาจารย์ดังเช่นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (หลวงพ่อโต) ท่านกลับเป็นที่รู้จักโดยพระนามฉายาว่า “สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน”
ทั้งนี้เพราะทรงมีเมตตามหานิยมสูงมาก แม้กระทั่งไก่ป่าที่อยู่รอบวัดก็ยังสัมผัสได้ถึงเมตตาบารมีดังกล่าว จนกลายเป็นสัตว์เชื่อง พากันมาหากินอยู่รอบ ๆ พระตำหนักและในบริเวณวัดของท่านเป็นฝูง ๆ กล่าวกันว่า ใครที่มาเห็นก็มักเข้าใจว่าเป็นไก่บ้านที่ถูกปล่อยวัด!! ….
ยังมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระอาจารย์สุก ได้ไปปักกลดตามป่าบ้าง วัดร้างบ้าง วันหนึ่งท่านเดินมาที่วัดร้างในป่าแห่งหนึ่ง ณ เมืองลำพูน เมื่อมาถึงท่านก็ได้เดินสำรวจที่สำหรับปักกลดมาถึงที่แห่งหนึ่ง พบแผ่นหินแผ่นหนึ่งท่านจึงปักกลดที่ข้างแผ่นหินนั้น พอตกเวลากลางคืนเงียบสงัดท่านก็เข้าที่ภาวนา
เมื่อท่านภาวนาอยู่นั้น ท่านก็ได้เห็นนิมิตเป็นอักษรขอมโบราณ พอรุ่งเช้าท่านก็ออกบิณฑบาตกลับมาฉันเรียบร้อยแล้วท่านจึงรวบมุ้งกลด จึงใช้สมาธิมองไปที่แผ่นหินนั้น ท่านก็เห็นอักษรอยู่ใต้หินแผ่นหิน ท่านจึงหงายแผ่นหินขึ้นพบอักษรภาษาขอมเป็นคาถา 16 ตัว
ท่านจึงท่องจำพระคาถานั้นให้ขึ้นใจแล้วท่านจึงพัก ณ ที่นั้นอีกหนึ่งคืน กลางดึกคืนนั้นท่านก็นั่งเข้าที่ภาวนาพระคาถานั้น จึงทราบว่า คาถานี้ คือ คาถา “ไก่เถื่อน” รุ่งเช้าอีกวันฉันอาหารบิณฑบาตแล้ว ก็นั่งภาวนาอีก สักครู่ก็มีไก่ป่า จำนวนมากมารุมล้อมท่าน ท่านจึงรู้ว่าคาถานี่ดีทางด้านเมตตา และสามารถเรียกได้ต่างๆ พระคาถามีความดังนี้
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว
ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา
สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา
กุตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ
หลวงปู่สุกท่านถอนกลดเดินทางในป่านั้น เดินไปเรื่อยๆ จนใกล้ค่ำ จึงปักกลด ตกกลางคืนก็เข้าที่ภาวนา พอเช้าฉันบิณฑบาตแล้ว ตอนสายแก่ๆ ท่านก็ภาวนา พระคาถาไก่เถื่อนอีก คราวนี้มีไก่ป่ามามากมายหลายสายพันธุ์มารุมล้อมท่าน บางตัวก็ขึ้นไปยืนบนเข้าท่านทั้งสองข้าง ท่านจึงทราบว่า เป็นคาถาที่ทำให้ไก่ป่าเชื่องได้ ปละเป็นคาถาที่ใช้สร้างสมในทางเมตตาบารมี
ว่ากันว่า พระคาถาพระยาไก่เถื่อนนี้ ผู้ใดภาวนาได้สามเดือนทุกๆ วันโดยไม่ขาด ผู้นั้นจะมีปัญญาดั่งพระพุทธโฆษาฯ และไก่ป่านี้ขันขานไพเราะนัก ด้วยอำนาจแห่งพระคาถาพระยาไก่เถื่อนให้สวดสามจบ จะไปเทศน์ ไปสวด ไปร้อง หรือไปเจรจาสิ่งใดๆ ดีนัก มีตบะเดชะนัก ถ้าแม้นสวดได้เจ็ดเดือน อาจสามารถรู้ใจคน เหมือนดังไก่ป่ารู้กลิ่นตัวคนฉะนั้น ถ้าสวดครบหนึ่งปีจะมีตบะเดชะเหนือกว่าคนทั้งหลายทั้งปวงแม้จะเดินทางไกล ให้สวดแปดจบเหมือนไก่ขันยาม เป็นสวัสดีกว่าคนทั้งหลาย ใช้เสกหิน เสกแร่ ไว้สี่มุมเรือน โจรผู้ร้ายไม่เข้าปล้นเหมือนไก่ป่าไม่ทิ้งรัง แม้ผีร้ายเข้ามาในเขตบ้าน ก็คร้ามกลัวยิ่งนัก เสกข้าวสารปรายหนทางก็ดี ประตูก็ดี ผีกลัวยิ่งนัก คนเดินไปถูกเข้าก็ล้มแล แพ้แก่อำนาจเรา
พระคาถานี้ได้เมื่อพระกกุสันโธเสวยพระชาติเป็นไก่ป่า เป็นอาการสามสิบสองของพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมโน พระกัสสโป พระโคตโม พระศรีอริยเมตไตย พระคาถาบทนี้ ถ้าจำเริญภาวนา จะมีอานุภาพมาก ผู้ใดภาวนาเป็นนิจสิน จะเกิดลาภยศมิรู้ขาด ทำมาค้าขึ้น ทำนา ทำสวน ทำไร่ เจริญงอกงามดี ทั้งทำให้บังเกิดสติปัญญาด้วย ถ้าเดินทางไปทางบกหรือเข้าป่า สวดภาวนาให้คลาดแคล้วจากภัยอันตรายดีนักแล ในบั้นปลายก็จะบรรลุพระนิพพานด้วยเมตตาบารมีนี้เอง –
คาถาไก่เถื่อน.ท่านคิรีวัน มารัญชยะ กล่าวว่า เป็นฉบับใบลานอักษรภาษาล้านนาที่ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านแปลไว้ โชคดีที่ได้รับไว้เป็นมรดกตกทอด ไม่เคยเห็นที่ไหนเหมือนกัน ทางเหนือเรียกคาถาไก่แก้วกุกลูก (เรียกลูก)
แปลพระคาถา เว ทา สา กุ พระยาไก่เถื่อน
เวทา -สากุ –กุสา- ทาเว -ทายะ-สาต- ตสา -ยทา
สาสาธิ- กุกุธิ -สาสา -กุตกุ -ภุ ภุ- กุตกุ
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งปวง ทรงสั่งสอนมนุษย์โลกและเทวโลกทั้งหลาย ทรงให้เป็นไปด้วยสัพพัญุตตญาณของพระองค์ ทรงเป็นที่พึ่งแก่หมู่สัตว์อุปมาดังเขาสิเนรุอันไม่หวั่นไหว
ในกาลใด ความสะดุ้งตกใจกลัวเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า ในกาลนั้นขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นโปรดประทานประโยชน์สุขแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิดฯ
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จงเผาผลาญ คือ กำจัดเสีย ซึ่งอกุศลกรรมอันเสมอด้วยหญ้าคา แก่ข้าพเจ้า ขอปัญญาตรัสรู้ธรรม จงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อเทอญ
จินต์จุฑา เรียบเรียง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews Panyayan