“หลวงปู่สี ฉันทสิริ” พระอรหันต์ ๗ แผ่นดิน
ประวัติหลวงปู่สี ฉันทสิริ
ชาติภูมิ หลวงปู่สี ท่านเป็นชาวอำเภอรัตนะ จังหวัดสุรินทร์ ท่านเกิดเมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๙๒ ตรงกับสมัยของรัชกาลที่๔ ส่วนเกิด วัน เดือน ใด ท่านไม่เคยบอก เมื่ออายุ ๒๑ ปี ท่านถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร เมื่อปลดจากการเป็นทหารแล้วท่านก็มายึดอาชีพค้าวัว ค้าควาย และเป็นพรานอยู่แถว ช่องแค-ตาคลี ซึ่งแต่เดิมมีสภาพเป็นป่าดงดิบ และยังไม่ได้ตั้งเป็นอำเภอตาคลี เมื่อมีการใช้นามสกุลขึ้น ตระกูลของท่านก็ใช้นามสกุลว่า “ดำริ” ชีวิตตอนเป็นหนุ่ม ท่านเป็นคนจริงไม่เคยเกรงกลัวใคร
ท่านใช้ชีวิตความเป็นหนุ่มอยู่นานหลายปี จนกระทั่งบังเกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงได้อุปสมบท โดยท่านบอกว่า ท่านบวชที่วัดบ้านเส้า อำเภอบ้านเส้า (อำเภอบ้านหมี่ ในปัจจุบัน) โดยมีพระครูธรรมขันธ์สุนทร เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนคู่สวดท่านไม่ได้บอกว่ามีพระอาจารย์รูปใดบ้าง เมื่อบวชได้ระยะหนึ่งท่านได้เดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่ ถ้ำเขาเสียบ เขตตำบลช่องแค อำเภอตาคลี เพราะว่าก่อนบวชท่านเคยอยู่ในเขตนี้มาก่อน
หลวงปู่สี ท่านถือปฏิบัติในการออกธุดงค์ ตลอดเวลาที่ท่านยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ท่านบอกว่า ท่านธุดงค์ไปทั่วประเทศไทย จากเหนือถึงใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก ท่านไปมาทั้งหมดเคยธุดงค์ไปฝั่งประเทศลาว จำพรรษาอยู่ในประเทศลาวหลายปี ธุดงค์เข้าประเทศพม่า เลยไปประเทศอินเดีย ไปนมัสการสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
จนท่านอายุได้ประมาณ ๙๐ ปี ครั้งสุดท้ายท่านไปสร้างวัดหนองลมพุก อ.โนนสังข์ จ.อุดรธานี ท่านพระครูนิวิฐปริยัติคุณ (สมบูรณ์) จึงไปนิมนต์ท่านลงมาช่วยสร้างวัดเขาถ้ำบุญนาค ซึ่งตอนนั้นยังเป็นสำนักสงฆ์ และถือว่าท่านเป็นพระเถราจารย์ที่อายุยืนที่สุดท่านหนึ่ง คือ ๑๒๘ ปี
เป็นที่รู้จักกันว่าหลวงปู่สีท่านเป็นพระปฏิบัติที่ไม่ติดในวัตถุ ไม่สะสม และไม่ติดยึดในสิ่งใดๆ แม้แต่ความสะดวกสบายต่างๆ ที่ลูกศิษย์ทุกคนพร้อมที่จะถวายให้ท่าน แต่ท่านไม่เอา ดังนั้นกุฏิของท่านที่อยู่จึงเป็นกุฏิหลังไม้เก่าๆ หลังเล็กๆ หรือไม่ก็ในถ้ำที่ท่านชอบเข้าไปปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ในวันหนึ่งท่านพระอาจารย์สมบูรณ์ เจ้าอาวาสเขาถ้ำบุญนาค ดำริที่จะสร้างกุฏิหลังใหม่ให้หลวงปู่ คณะกรรมการทุกคนก็พร้อมใจกัน จึงได้เรียกช่างปูนมาทำการก่อสร้าง โดยสร้างเป็นกุฏิปูนชั้นเดียว พอท่านทราบเรื่องว่าจะสร้างให้ท่าน ท่านก็บอกว่าจะไม่ยอมไปอยู่กุฏิหลังใหม่
เป็นที่น่ามหัศจรรย์ หลังจากที่หลวงปู่สีท่านพูดเช่นนั้น ช่างปูนที่รับคำสั่งจากท่านเจ้าอาวาสได้ลงมือก่อสร้างกุฏิหลังใหม่ วันนั้นปรากฏว่าช่างปูนไม่สามารถฉาบปูนได้เลย เพราะฉาบปูนเท่าใดก็ไม่ติด กระทั่งช่างปูนนึกท้อใจ เพราะไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิตที่รับงานก่อสร้างมานับไม่ถ้วน ในที่สุดก็ตัดสินใจเลิกทำ ความทราบถึงท่านเจ้าอาวาส และ พระอาจารย์รักษ์ เตชธัมโม ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากของหลวงปู่ ได้ไปนมัสการหลวงปู่
“หลวงปู่ครับทำไมไปแกล้งช่างปูนอย่างนั้น”
หลวงปู่สีท่านก็ตอบว่า “ไม่ได้แกล้ง แต่ไม่อยากไปอยู่กุฏิหลังใหม่”
พระภิกษุรักษ์ เตชธัมโม จึงได้บอกกับหลวงปู่
“หากหลวงปู่ไม่อยากอยู่ก็ไม่เป็นไร ให้ช่างปูนเขาสร้างให้เสร็จก่อน”
ต่อจากนั้นอีก ๒ วัน พระอาจารย์สมบูรณ์ ท่านเจ้าอาวาส เรียกช่างปูนมาทำใหม่ ซึ่งคราวนี้ช่างปูนสามารถฉาบปูนได้เป็นผลสำเร็จอย่างไม่มีปัญหา เพียงวันเดียวก็สามารถฉาบปูนสำเร็จหมดทั้งกุฏิ ทีมงานก่อสร้างในครั้งนั้นต่างเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่ทุกตัวคน
กุฏิหลังดังกล่าว ในสมัยที่หลวงปู่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านไม่เคยได้ไปใช้สอยเลย แต่หลังจากที่ท่านมรณะแล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์จึงได้อัญเชิญศพของท่านบรรจุลงโลงแก้ว แล้วประดิษฐานไว้ที่กุฏิหลังใหม่ ซึ่งเป็นการสะดวกที่จะให้ลูกศิษย์ของหลวงปู่ไปกราบไหว้บูชาหลวงปู่ แต่ปัจจุบันได้ย้ายสังขารของหลวงปู่มาอยู่ที่มณฑปหลังใหม่แล้ว
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก หลวงปู่สี.com