พระพุทธชินราช โรงพยาบาลสงฆ์ ปี 2500
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คณะกรรมการแพทย์ โรงพยาบาลสงฆ์ ได้มีมติให้ดำเนินการสร้างพระเครื่อง โดยเงินที่ได้จากการดำเนินการดังกล่าว ทางคณะแพทย์จะใช้เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การประกอบพิธีถูกต้องตามตำราทั้งทางพุทธเวทย์ และ ไสยเวทย์ พระที่สร้างมีสอง ประเภท คือ เนื้อโลหะ และ เนื้อดินเผาผสมผงศักดิ์สิทธิ์ โดยเนื้อดินเผามีสามพิมพ์ ได้แก่ พิมพ์พระรอด พิมพ์นางพญา และ พิมพ์ชินราช ทุกประการ
มีวัตถุประสงค์โดยย่อดังนี้
๑. เพื่อเป็นอนุสรณ์ในมงคลสมัยที่พระพุทธศาสนายุกาลจำเริญมาได้ครบ ๒๕๐๐ ปี
๒. เพื่อได้รวบรวมทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธา สร้างพระพุทธรูปต่างๆในครั้งนี้ สำหรับตั้งเป็นทุนเพื่อวินิจฉัยค้นคว้าเกี่ยวกับวิชาการของแพทย์เพื่อเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ชนทั่วไป
นายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ในแต่ละจังหวัด ได้ขอผงศักดิ์สิทธิ์จากพระอาจารย์ที่ได้ลงอักขระในแผ่นโลหะสำหรับหล่อพระพุทธรูปโดยขอจังหวัดละ ๑๐ องค์ แต่ได้ผงมาจากพระอาจารย์ทั้งหมด ๗๐๙ องค์ รวมทั้งดินจากสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ผงว่านและ เกษรต่างๆ ผงอิทธิเจ ปถมัง มหาราช ตรีนิสิงเห ที่ได้จากพระอาจารย์มีชื่อในสมัยนั้นกว่า 700 รูป โดยให้นายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำจังหวัดในสมัยนั้นเป็นผู้ประสานงาน ผสมผงพระกรุเก่า อาทิเช่น พระสมเด็จวัดระฆัง สมเด็จวัดสระเกศ ผงพระกรุลำพูน ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้ผงชินและผงศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่อีกมาก หลังจากนั้นนำผงมาประสมรวม ณ. พระวิหารโรงพยาบาลสงฆ์ จากนั้นนำผงมาผสมใส่ในพระเครื่องดินเผา โดยคลุกเคล้าอย่างละเอียดทั่วทุกองค์พระที่สร้าง
คณะกรรมการได้สร้างพระเครื่องดินเผารวม ๓ ชนิด คือ
๑. พระพุทธชินราช สำหรับประจำตัวชาย
๒. พระนางพญา สำหรับประจำตัวหญิง
๓. พระรอด สำหรับประจำตัวเด็ก
โดยได้แยกทำ ๒ แห่ง คือ
๑. พระพุทธชินราชและพระนางพญา ประกอบพิธีสร้างที่พระวิหารหลวง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ประกอบพิธีสร้าง เมื่อ ๓๐ และ ๓๑ มกราคม ปีพ.ศ.๒๕๐๐ ในวันที่ ๓๐ มกราคม ปีพ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีการนำพิมพ์พระและผงศักดิ์สิทธิ์มาตั้งไว้ภายในพระวิหาร วงสายสิญจน์จากองค์พระหลวงพ่อพระพุทธชินราช ลงล้อมสิ่งของเครื่องพิธีทั้งปวง โดยเริ่มจุดเทียนชัยเวลา ๑๙:๐๐ น. มีเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธานเจริญพระพุทธมนตร์และมีพระสงฆ์นั่งปรกบริกรรมปลุกเศกทั้งคืนโดยมีหลวงพ่อไซ้ วัดช่องลม จ.อุตรดิตถ์เป็นประธาน.รุ่งขึ้นเวลาเช้าได้ปฐมฤกษ์ท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม วัดพระเชตุพน ได้พิมพ์พระเป็นปฐมฤกษ์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาแล้วดับเทียนชัย แล้วทำการพิมพ์พระจนได้ครบจำนวน
๒. พิมพ์พระรอด ประกอบพิธีสร้างที่ พระวิหารหลวง วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน ได้ประกอบพิธีสร้างในวันที่ ๓๑ มกราคา ปีพ.ศ.๒๕๐๐ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๕ น.ได้มีการเจริญพระพุทธมนตร์และสวดเบิกตามแบบเมืองเหนือ โดยประกอบพิธีการสร้างพระรอดแบบเก่าแต่ครั้งก่อน เสร็จพิธีแล้วได้นำผงศักดิ์สิทธิ์คลุกเคล้าลงในดินที่จะพิมพ์เป็นองค์พระ หลังจากนั้นจึงนำพระทั้งหมดมาเข้าพิธีพุทธาภิเษก และฉลองที่โรงพยาบาลสงฆ์ รวมเป็น ๓ ครั้งด้วยกัน โดยทำการฉลองในวันที่ ๑-๒ พฤษภาคม ปีพ.ศ.๒๕๐๐
เมื่อทำการกดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้นำพระทั้งหมดมาเข้าพิธีพุทธาภิเษก และฉลองสมโภชน์ที่โรงพยาบาลสงฆ์ หลายวาระด้วยกัน โดยครั้งแรกทำพิธีพุทธาภิเษกโดยยอดพระเถระอาจารย์ผู้เรืองพระเวทวิทยาคมในยุคนั้นครบครัน โดยทำพิธีมหาพุทธาภิเษกวา วาระแรก ๓ วัน ๓ คือ ระหว่างวันที่ ๗-๙ มีนาคม ปีพ.ศ.๒๕๐๐ ครั้งที่สอง ๑-๒ พฤษภาคม ปี พ.ศ.๒๕๐๐ โดยมีพระคณาจารย์ร่วมพิธีปลุกเสก ดังนี้
๑. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสระเกศ
๒. ท่านเจ้าคุณราชโมลี วัดระฆังโฆสิตาราม
๓. หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
๔. ท่านเจ้าคุณปภัสสรมุนี วัดมิ่งเมือง เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
๕. หลวงพ่อเมี้ยน วัดพระเชตุพน
๖. หลวงพ่อหลาย วัดราษฎร์บำรุง ชลบุรี
๗. ท่านเจ้าคุณโสภณสมาจาร วัดหนองบัว กาญจนบุรี
๘. หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง นนทบุรี
๙. หลวงพ่อสุข วัดโตนดหลวง เพชรบุรี
๑๐. ท่านพระครูปลัดบุญรอด นครศรีธรรมราช
๑๑. หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน นครศรีธรรมราช
๑๒. หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลย์ สุพรรณบุรี
๑๓. หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม นครปฐม
๑๔. หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยา
๑๕. หลวงพ่อแสวง วัดกลางสวน สมุทรปราการ
๑๖. หลวงพ่อบุญธรรม วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม
๑๗. ท่านพระครูไพโรจน์วุฒิคุณ วัดโพธินิมิต ธนบุรี
๑๘. ท่านพระครูวิริยกิติ วัดประดู่ฉิมพลี ธนบุรี
๑๙. ท่านพระครูปลัดเกียรติ วัดมหาธาตุ พระนคร
๒๐. พระครูกัลยาณวิสุทธิคุณ วัดดอนยานนาวา พระนคร
๒๑. พระครูกรุณาวิหารี (หลวงปู่เผือก)วัดกิ่งแก้ว สมุทรปราการ
๒๒. หลวงพ่อทบ ธัมมปัญโญ วัดชนแดน หรือ พระครูวิชิตพัชราจารย์ เพชรบูรณ์
และพระเกจิอาจารย์อื่นอีกรวม ๑๐๘ รูป โดยรวมถือว่าเป็น วัตถุมงคลที่สมบูรณ์ครบถ้วน วัตถุประสงค์เจตนาในการสร้างดี ด้านพิธีกรรมจัดสร้างและมวลสารดี