web analytics
พระเครื่อง

พระร่วงหน้าพระธาตุ ปี 2517

พระร่วงหน้าพระธาตุ ปี 2517 พิธีพระพนัสบดี จ.ชลบุรี หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่/ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ร่วมปลุกเสก

พระร่วงยืนหน้าพระธาตุ ปี 2517 เนื้อชินตะกั่ว พิมพ์สร้างเลียนพิมพ์จากพระร่วงยืนกรุเก่าหน้าพระธาตุ พนัสนิคม ชลบุรี ที่เป็นกรุเก่าแก่เมืองชลอายุกว่าพันปีที่หายากมากๆ และราคาหลักแสน พิธีมหาพุทธาพิเษกจัดขึ้น ณ อุโบสถวัดหน้าพระธาตุ ต.หน้าพระธาตุ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2517 โดยสมเด็จฯ พระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชบพิธ กทม. เป็นผู้จุดและดับเทียนชัย มีคณาจารย์เข้าร่วมพิธีปลุกเสกหลายท่าน อาทิ
1. หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กทมฯ
2. หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง
3. หลวงปู่เหมือน วัดกำแพง จ.ชลบุรี
4. หลวงปู่โต วัดบ้านกล้วย จ.นครราชสีมา
5. ท่านเจ้าคุณธีระ (ศิษย์เอกหลวงพ่อสด) วัดปากน้ำ กทมฯ
6. พระปรมาจารย์ผ่อง จินดา วัดจักรวรรดิราชาธิวาส กทมฯ
7. หลวงพ่อทอง วัดก้อนแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา
8. หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส จ.จันทบุรี
9. หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม
10. หลวงพ่อวิเชียร วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี
11. หลวงพ่อวรรณ วัดพลับ จ.ชลบุรี
12. หลวงพ่อทองหยิบ วัดโบสถ์ จ.ชลบุรี
13. หลวงพ่อม่น วัดเนินตามาก จ.ชลบุรี
14. หลวงพ่อแร่ วัดเซิดสำราญ จ.ชลบุรี
15. หลวงพ่อเที่ยง วัดกลางทุมมาวาส จ.ชลบุรี
ฯลฯ

พระร่วงยืนหน้าพระธาตุ จ.ชลบุรี ปี 2517 ขนาดขององค์พระสูง 5.5 ซม. เป็นแบบปั๊มตัดขอบ เนื้อชินตะกั่ว พิธีใหญ่ ชลบุรีใช่มีแต่เพียงพระเครื่องใหม่ๆ ดังกล่าวแล้วว่าเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ดังนั้น ส่วนหนึ่งของชลบุรีจึงถูกบันทึกไว้ในหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็น เมืองพระรถเมรี ถ้าใครคุ้นเคยกับนิทานพื้นบ้านคงเข้าใจ ส่วนหนึ่งดังว่านั้นปัจจุบันเป็นอำเภอมีชื่อว่า “พนัสนิคม” พนัส แปลว่า ป่า สมัยก่อนที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และหมู่สัตว์น้อยใหญ่ เป็นเหตุจูงใจให้ผู้คนอพยพเข้าไปอยู่อาศัยเพื่อทำมาหากิน รวมถึงชาวลาวโซ่งที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว มีชาวพุทธที่ไหน มีวัดที่นั่น พนัสนิคมจึงปรากฏวัดเก่าโบราณหลายแห่งพร้อมกับพระเครื่องยุคตั้งเมืองทั้งเนื้อดิน ชิน และผง แต่ที่ครองความนิยมอันดับหนึ่งและมีประสบการณ์มากต้องยกให้พระเนื้อชินที่รู้จักกันในนาม พระร่วงหน้าพระธาตุ พระพิมพ์นี้ปัจจุบันเป็นที่นิยมและหายากมาก ยิ่งสภาพสมบูรณ์แล้วยิ่งยากใหญ่ด้วยเนื้อเป็นตะกั่วผสมตามแบบสมัยนิยมของโบราณาจารย์ จึงไม่ค่อยทนกับสภาพแวดล้อมเท่าไรนัก แต่ความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสร้างใหม่แบบล้อพิมพ์ขึ้นมาโดยอาศัยเหตุจากอิทธิฤทธิ์ของ พระพนัสบดี พระพนัสบดีถูกค้นพบได้อย่างอัศจรรย์ที่สุดเมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2471 โดยผู้พบคือก๋งแดงและคุณยายน้อย บัวเข็ม ทั้งสองท่านมีอาชีพพายเรือไปตามคลองขายของเล็กๆ น้อยๆ และแลกสินค้ากับข้าวเปลือก ทั้งสองมีฐานะยากจนมาก วันหนึ่งขณะก๋งแดงและคุณยายน้อยพายเรือบ่ายหน้าไปทางวัดโบสถ์ พอเรือมาถึงโคกใหญ่ละแวกบ้านคลองแพ่ง ตำบลหน้าพระธาตุ ก็เกิดมหัศจรรย์ขึ้นกลางลำน้ำคือน้ำในคลองได้หมุนวนเป็นวงเชี่ยวกราก ส่งผลให้เรือลำเล็กทำท่าจะล่มลง เมื่อสุดวิสัยจะบังคับเรือ คุณยายน้อยจึงตัดสินใจปักพายลงข้างตลิ่งเพื่อทรงตัว ครั้นพายกระแทกลงในดินคุณยายก็รู้สึกได้ว่าไม้พายไปกระทบวัตถุแข็งบางอย่างเข้าอย่างแรง จึงเหลียวไปดูก็เห็นส่วนหนึ่งของวัตถุนั้นโผล่พ้นดินโคลนออกมาหน่อย คุณยายน้อยเลยคุ้ยเอาของสิ่งนั้นขึ้นมาจึงได้เห็นว่าเป็นพระพุทธรูปสีดำ ทั้งสองตื่นเต้นดีใจเป็นอันมากพากันเลิกขายของจ้ำฝีพายกลับบ้านอย่างปีติลิงโลด ถึงแล้วก็ทำความสะอาดองค์พระชะล้างดินโคลนออก พากันหาดอกไม้ธูปเทียนมาทำการสักการะบูชา และปิดปากเงียบไม่ยอมบอกใครถึงเรื่องนี้เพราะกลัวคนร้ายจะมาโจรกรรม เมื่อพระพุทธรูปองค์นี้มาอยู่กับก๋งแดงและคุณยายน้อยก็เกิดเหตุประหลาดกล่าวคือทั้งสองขายของได้อย่างเทน้ำเทท่า จะหยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด สุขภาพก็ดีวันดีคืน ความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เมื่อเป็นดังนี้ท่านทั้งสองก็เชื่อมั่นว่าต้องเป็นเพราะอภินิหารจากพระองค์ดำนี้แน่ ๆ จึงเรียกนามท่านโดยเคารพว่า หลวงพ่อสัมฤทธิ์ คือปรารถนาสิ่งใดก็สัมฤทธิ์ผล สมประสงค์ทุกอย่าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่อาคารทำการของเทศบาลเมืองพนัสนิคมซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ ยังไม่ทันได้ทำพิธีมอบและเปิดอาคารเลย เหตุเพราะอาคารนี้เป็นไม้ล้วนและสร้างถึงสองชั้นทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว อีกทั้งกระป๋องสีและกระป๋องทินเนอร์ก็ยังอยู่ภายในอาคารจึงเป็นเชื้อไฟอย่างดี บ้านที่ประดิษฐานหลวงพ่อสัมฤทธิ์หรือพระพนัสบดีนั้นอยู่ตรงข้ามเรือนไม้นี้ห่างกันไม่กี่เมตรเท่านั้น เมื่อเกิดไฟไหม้ก็เป็นธรรมชาติที่จะเกิดลมใหญ่ด้วยอากาศร้อนลอยขึ้นที่สูงอากาศเย็นจึงไหลเข้ามาแทนที่ เกิดเป็นลมหวนหอบเอาลูกไฟและสะเก็ดไฟไปตกใส่หลังคาเรือนของชาวบ้านละแวกนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นหลังคามุงจากทั้งสิ้น มหาภัยครั้งนี้ได้ลุกลามมาจนจวนเจียนจะถึงบ้านที่ประดิษฐานพระพนัสบดี ซึ่งในตอนนั้นผู้ครอบครององค์พระเป็นลูกชายของก๋งแดงและคุณยายน้อยชื่อ นายอ๋อง ทั้งเปลวไฟและควันดำทำนายอ๋องตกตะลึงสำลักควันไปไหนไม่ได้ทำอะไรไม่ถูกละล้าละลังอยู่อย่างนั้น ญาตินายอ๋องคนหนึ่งได้สติรีบถามว่าเอาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ไปไว้ที่ไหน นายอ๋องจึงนึกขึ้นได้รีบวิ่งเข้าห้องไปอุ้มเอาพระออกมาและเอาท่านลงสรงน้ำตั้งจิตอธิษฐานขอให้ท่านช่วยเหลือให้รอดพ้นจากมหันตภัยในครั้งนี้ แล้วรีบนำน้ำนั้นไปสาดรอบ ๆ บริเวณบ้านของตน เพียงครู่เดียวเหมือนปาฎิหาริย์ บังเกิดลมพายุหอบใหญ่พัดเอาเปลวไฟและควันตีออกจากทิศที่เป็นบ้านของนายอ๋องหวนไฟกลับไปทางอื่นอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ต่างเฮโลเข้ามาขอน้ำมนต์จากนายอ๋องไปรดรอบๆ บ้านตนเองบ้าง และน่าอัศจรรย์ที่ลมประหลาดนั้นก็เกิดขึ้นเช่นกันทำให้ชาวบ้านแถบนั้นไม่ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเลย ด้วยความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งเช่นนี้ชาวพนัสนิคมจึงถือว่าหลวงพ่อสัมฤทธิ์เป็นพระพุทธรูปที่ทรงคุณค่าเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจแน่นแฟ้นจึงปรารถนาจะสร้างองค์พระจำลองขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้บูชา
Facebook Comments
แบ่งปันลิงค์นี้ :