ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน
ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นประเพณีมาตั้งแต่โบราณกาล ในครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตรัสให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 7 ไปจนถึงเดือน 8 ขึ้น 15 ค่ำ และทรงอนุญาตนุ่งหุ่มได้ตั้งแต่ แรม 1 ค่ำเดือน 8 ไป และห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์แสวงหาผ้านุ่งห่มเลยไปจากทรงอนุญาตไว้
เมื่อทรงกำหนดไว้ดังนี้แล้วครั้งถึงเวลาบรรดาพุทธศาสนิกชน จึงชวนกันบริจาคทรัพย์ของตน และจัดหาผ้าอาบน้ำฝนนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัด ทั้งนี้เพื่อมิให้พระภิกษุสงฆ์ต้องกังวลในเรื่องการแสวงหา จะได้ตั้งหน้าประพฤติสมณธรรมโดย มิต้องกังวลจึงเป็นอานิสงส์อย่างหนึ่งที่ควรจะประกอบ เพื่อจรรโลงศาสนาให้รุ่งเรืองถาวรสืบไป
ผ้าอาบน้ำฝน เป็นอุปกรณ์สำคัญในการดำรงชีพของสมณะทั้งหลาย ดังนั้น ผู้ที่นำไปถวายจึงได้ชื่อว่าได้เกื้อกูลพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง
ในอดีตกาลก็มีเรื่องเล่าว่า
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะประทับอยู่ที่พระเชตวนารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายในนครสาวัตถี
กาลครั้งนั้น นางวิสาขามหาอุบาสิกา อัครสาวิกาได้ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาถวายอภิวาทแล้วนั่งในที่อันสมควรข้างหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้นางวิสาขาฟังพอสมควรแล้ว นางวิสาขาได้กราบทูลพระพุทธเจ้า พร้อมพระภิกษุสงฆ์ให้เข้าไปรับบิณฑบาตที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้นเช้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์
ครั้นแล้วนางวิสาขา จึงลุกจากที่นั่งถวายบังคมกลับออกไป
เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว พอรุ่งขึ้นก็เกิดฝนตกหนัก สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝนที่ได้ตกในพระเชตวันวิหารนี้เช่นใด ก็ได้ตกตลอดไปจนทั่วถึงในทวีปใหญ่ทั้ง 4 เช่นนั้นเหมือนกัน พวกเธอจงเปลือยกายอาบน้ำเถิดเพราะมี เม็ดใหญ่ จะยังฝนให้ตกตลอดทั่วถึงทวีปใหญ่ๆ ทั้ง 4 เช่นนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว”
พระภิกษุทั้งหลาย ได้รับอนุญาตจากพระพุทธองค์เช่นนี้แล้ว ก็ได้พากันเปลื้องผ้าจีวร และสบงออกแล้วอาบน้ำฝนในบริเวณพระเชตวนารามนั่นเอง
เมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้ตกแต่งโภชนียาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงใช้ให้นางทาสีไปกราบทูลนิมนต์พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ว่า ถึงเวลาภัตตาหารแล้ว เมื่อนางทาสีได้ไปถึงบริเวณพระเชตวนารามวิหาร ได้เห็นพระภิกษุสงฆ์พากัน เปลือยกายอาบน้ำฝนกันอยู่ นางทาสีมีความสำคัญว่าไม่ใช่พระภิกษุสงฆ์ เพราะเคยเห็นแต่พวกอาชีวกนิครนถ์เท่านั้นที่ได้เปลือยกาย นางจึงกลับมาแจ้งแก่นางวิสาขามหาอุบาสิกา
นางวิสาขาจึงคิดว่า ชะรอยพระภิกษุทั้งหลายคงจะเปลือยกายอาบน้ำฝนเป็นแน่ จึงให้นางทาสีกลับไปนิมนต์อีก
เมื่อนางทาสีไปถึงก็เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์อาบน้ำกลับที่อยู่ของตนแล้ว นางทาสีไม่เห็นพระภิกษุที่พระอารามเห็นแต่พระอารามว่างเปล่าจึงกลับมาบอก นางวิสาขาอีก นางวิสาขาจึงคิดว่าชะรอยพระภิกษุจะอาบน้ำเสร็จเเล้ว จึงแยกย้ายไป สู่ที่อยู่ของตน นางจึงให้นางทาสีไปอีกวาระหนึ่ง
ครั้งนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนพระภิกษุทั้งหลายว่า พวกเธอจงพากันตระเตรียมบาตรจีวรไว้ให้พร้อม เวลานี้เป็นเวลาภัตตาหารแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มพระสุคตจีวร ทรงถือเอาบาตรและพุทธบริขารมีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จโดยพุทธานุภาพถึงประตูบ้านนางวิสาขามหาอุบาสิกาในเวลาชั่วพริบตาเดียว โดยพระบาทมิได้เปียกน้ำซึ่งกำลังนองอยู่โดยทั่วไป
เมื่อเสด็จไปถึงแล้ว ก็ประทับบนพุทธอาสน์พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย นางวิสาขาจึงคิดในใจว่า
“ โอ้หนอ พระพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้านี้ช่างเป็นที่อัศจรรย์จริง เมื่อห้วงน้ำท่วมพื้นแผ่นดิน เพียงเข่าบ้างเพียงสะเอวบ้าง เท้าหรือจีวรของพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้แต่สักรูปหนึ่งก็มิได้เปียกเลย
เมื่อนางวิสาขาได้เห็นพุทธานุภาพเช่นนั้น ก็มีความปลาบปลื้มเป็นที่ยิ่ง จึงถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์จนอิ่มแล้ว นางวิสาขาจึงทูลขอพร 8 ประการ ต่อสมเด็จพระพุทธองค์เจ้า
นางวิสาขาจึงกราบทูลว่า
เมื่อหม่อมฉันได้ให้นางทาสีไปนิมนต์พระภิกษุสงฆ์นั้น นางทาสีได้เห็นพระภิกษุสงฆ์เปลือยกายอาบน้ำในพระเชตวนาราม หม่อมฉันได้ทรงทราบก็เกิดสลดใจ และคิดว่าพระภิกษุสงฆ์อัตคัดขัดสนนัก แม้แต่ผ้านุ่งอาบน้ำฝนก็มิได้มีจึงเป็นที่ไม่สะอาดตาแก่ผู้ได้พบเห็น หม่อมฉันจึงกราบทูลขอ
พรข้อที่ 1 ว่า
ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝน แก่ภิกษุจนตลอดชีวิต
พรข้อที่ 2 ว่า
เมื่อพระภิกษุมาจากที่อื่น ยังไม่รู้จักทางที่จะเที่ยวบิณฑบาต ย่อมจะเป็นที่ลำบากในเรื่องอาหารบิณฑบาต ขอให้ภิกษุพระอาคันตุกะนั้นได้ฉันอาคันตุกภัตรอยู่ พอได้รู้ว่ามีที่จะโคจรบิณฑบาตแล้ว ก็จักไม่มีความเดือดร้อน จักได้เที่ยวบิณฑบาตได้โดยสะดวก หม่อมฉันเห็นประโยชน์เช่นนี้จึงได้ทูลขอพรข้อที่ 2 เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตอาคันตุกภัตรแก่ภิกษุบริษัทให้ได้บริโภคตามเวลาอันเหมาะสม
พรข้อที่ 3 ว่า
พระภิกษุที่จะไปยังประเทศไกล เมื่อมากังวลด้วยเรื่องการที่จะหาเสบียงอยู่ ภิกษุนั้นก็จะไปไม่ทันหมู่พวกเดินทาง หรือจักไปถึงสถานที่ที่ตนมุ่งหมายในเวลาวิกาล เมื่อขาดอาหารร่างกายก็จะบวมช้ำในการที่ต้องเดินทางไกล ครั้นเมื่อภิกษุนั้นได้รับคมิกภัตรแล้วก็จะได้ไปทันหมู่พวกเดินทาง และจะได้ไปถึงสถานที่ที่ตนมุ่งหมายจะไปทันกับกาลเวลาจักไม่ลำบากในการเดินทางหม่อมฉันได้เล็งเห็นอำนาจประโยชน์เช่นนี้ จึงได้ทูลขอพรข้อที่ 3 เพื่อให้พระองค์ทรงอนุญาตคมิกภัตรให้แก่ภิกษุบริษัทได้บริโภคในเวลากาลอันสมควร
พรข้อที่ 4 ว่า
เมื่อภิกษุผู้เป็นไข้ ถ้าไม่ได้บริโภคโภชนะอันเป็นที่สบาย อาพาธความป่วยไข้ของภิกษุนั้นก็จักกำเริบขึ้นหรือจักถึงซึ่งกาลมรณภาพได้ เมื่อภิกษุนั้นได้บริโภค คิลานภัตร อันเป็นที่สบายแล้วอาพาธของภิกษุนั้นก็จะเสื่อมคลายหายได้ง่าย หม่อมฉันได้เห็นอำนาจประโยชน์ประจักษ์เช่นนี้จึงได้ทูลขอพรข้อที่ 4 เพื่อให้พระองค์ทรงอนุญาตคิลานภัตรเพื่อให้ภิกษุเป็นไข้บริโภคในเวลาอันสมควร
พรข้อที่ 5 ว่า
ภิกษุผู้เป็นคิลานุปัฏฐาก เมื่อมัวแต่กังวลด้วยการแสวงหาอาหารบิณฑบาตเพื่อตนจะได้บริโภคอยู่ ภิกษุไข้ก็จะได้บริโภคภัตรในเวลาสายบ้างหรือไม่ได้บริโภคบ้าง เมื่อภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ได้บริโภคคิลานุปัฎฐากภัตร์ ภิกษุไข้ก็จักได้บริโภคแต่ในเวลาเช้ามิได้ขาด หม่อมฉันจึงเล็งเห็นประโยชน์เช่นนี้ จึงได้ทูลของพรข้อที่ 5 ขอให้ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตคิลานุปัฏฐากภัตรเพื่อให้ภิกษุผู้ปฏิบัติภิกษุไข้ได้บริโภคในเวลาอันสมควร
พรข้อที่ 6 ว่า
เมื่อภิกษุไข้ไม่ได้บริโภคเภสัชที่สบาย อาการของภิกษุไข้นั้นก็จะกำเริบ อาจทำให้ภิกษุไข้นั้นทำกาลกิริยาตายได้ เมื่อภิกษุไข้นั้นได้บริโภคคิลานเภสัช อันเป็นที่สบายอาพาธก็จักเสื่อมคลายหายได้ หม่อมฉันได้เห็นอำนาจประโยชน์เช่นนี้จึงได้ทูลขอพรข้อที่ 6 ขอให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตคิลานเภสัชเพื่อให้ภิกษุได้บริโภคในเวลาอันสมควร
พรข้อที่ 7 ว่า
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ที่อันธกวินทวิหารทรงเห็นอานิสงส์ 10 ประการ จึงได้ทรงอนุญูาตข้าวยาคูแก่ภิกษุสงฆ์ให้รับบริโภคได้ หม่อมฉันเห็นอนิสงส์เหล่านี้เห็นประจักษ์ด้วยตนแล้ว หม่อมฉันจึงขอถวายข้าวยาคูเป็นนิตย์แก่ภิกษุสงฆ์ตลอดชีวิตของหม่อมฉัน
พรข้อที่ 8 ว่า
ครั้งหนึ่งนางภิกษุณีทั้งหลายได้พากันเปลือยกายอาบน้ำที่ท่าน้ำแห่งเเม่น้ำอจิรวดีแห่งเดียวกับหญิงแพศยา หญิงแพศยาเหล่านั้นก็ได้พากันเยาะเย้ยพวกภิกษุณีเหล่านั้นว่า พระแม่เจ้าทั้งหลายก็เพิ่งจะเเรกรุ่นเจริญวัยไหนจึงได้พากันมาประพฤติพรหมจรรย์อดกลั้นกิเลสอยู่ฉะนี้เล่า ควรที่พระแม่เจ้าทั้งหลายจะบริโภคกามารมณ์มิใช่หรือ เมื่อแก่แล้วจึงค่อยพากันประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อนางภิกษุณีทั้งหลายเหล่านี้ถูกพวกหญิงแพศยากล่าววาจาเยาะเย้ยเช่นนั้นก็มีความละอายเก้อเขิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขึ้นชื่อว่ามาตุคามเปลือยกายอาบน้ำฉะนี้เป็นสิ่งที่ดูไม่งามช่างปฏิกูลนัก หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แจ้งประจักษ์ฉะนี้ จึงได้ทูลขอพรที่ 8 เมื่อหม่อมฉันจะถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดอายุของหม่อมฉัน
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามว่า ดูก่อนวิสาขา ก็เธอได้เห็นอานิสงส์อย่างไรเล่าจึงได้ทูลขอพร 8 ประการต่อเรา
นางวิสาขาจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาอยู่ในทิศต่างๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็จะพากันมาสู่สาวัตถีเพื่อจะเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วภิกษุเหล่านั้นก็จะพากันกราบทูลพระพุทธองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุชื่อนี้ทำกาลกิริยาลง คติและสัมปรายภพของเธอจักเป็นไฉน แล้วพระองค์ก็จักทรงพยากรณ์ในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคตมิผล หรือในพระอรหันต์ฯ หม่อมฉันก็จะเข้าไปถามภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นว่า ท่านที่ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้นนั้น เคยมายังประเทศสาวัตถีบ้างหรือไม่ ภิกษุทั้งหลายจะกล่าวว่าเคยมา หม่อมฉันก็จักตกลงใจว่าพระผู้ เป็นเจ้านี้คงจะได้รับผ้าอาบน้ำฝน และฉันอาคันตุกภัตรเป็นต้นของเราแล้วเป็นแน่แท้เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงกุศลอันนี้แล้ว ก็จะบังเกิดความปราโมทย์ เมื่อได้บังเกิดความปราโมทย์ขึ้นแล้ว ปีติความอิ่มกายอิ่มใจก็จะบังเกิดขึ้น เมื่อใจประกอบด้วยปกติแล้ว กายก็จะสงบระงับ ผู้ที่มีกายสงบระงับก็จักได้เสวยความสุข ก็จักตั้งมั่นแน่วแน่ในสมาธิ ต่อแต่นั้นอินทรีย์ภาวนา การอบรมอินทรีย์และโพชฌงค์ ก็จักบังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันเป็นลำดับไป หม่อมฉันได้เล็งเห็นประโยชน์ดังนี้ จึงได้กราบทูลขอพร 8 ประการต่อพระพุทธเจ้า พระเจ้าข้า
เมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกากราบทูลฉะนี้จบลงแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสรรเสริญว่า ดีแล้ววิสาขาฯ เธอได้แลเห็นอานิสงส์อย่างนี้ จึงได้ขอพร 8 ประการต่อเราตถาคตเราตถาคตอนุญาตพร 8 ประการนี้แก่เธอ
ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าจำนำพรรษานี้จึงมีประวัติและทำสืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนกระทั่งทุกวันนี้
การถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้นไม่มีกำหนดแน่ลงไปว่าต้องถวายวันไหน เพียงแต่ให้อยู่ในระยะ 1 เดือนก่อนเข้าพรรษา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องแล้วแต่ทายกจะพึงกำหนดวันถวายพร้อมกัน การถวายผ้าอาบน้ำฝนตามวัดต่างๆ จึงไม่ตรงกัน ซึ่งอยู่ในระหว่างเดือน 7 ข้างแรม จนถึงวันเพ็ญเดือน 8 โดยมากมักถวายกันในวันพระ เพราะเป็นวันที่ได้ประชุมพร้อมเพรียงกัน บางวัดถวายในวันเข้าพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8
พิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน
1 . เมื่อถึงวันกำหนดแล้ว พึงประชุมพร้อมกันตามสถานที่ที่ได้กำหนดไว้ จะเป็นพระอุโบสถ หรือศาลาการเปรียญ นำผ้าอาบน้ำฝน 1 ผู้นำและของถวายอย่างอื่นเป็นบริวาร เช่น ร่ม พุ่มเทียน ไม้ขีด สบู่ ยาสีฟัน กระดาษชำระ ฯลฯ
2 . เมื่อพระสงฆ์ลงประชุมเรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นหัวหน้ากล่าวคำถวาย
3 . เมื่อกล่าวคำถวายเสร็จแล้ว เจ้าของผ้าประเคนผ้าแก่พระภิกษุผู้จับได้ฉลากของตนเป็นราย ๆ ต่อไป
4 . เสร็จการประเมินแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา ทายกกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไป แล้ว
การกรวดน้ำและรับพรพระ
ในการกรวดน้ำให้ปฏิบัติดังนี้
1 . จัดเตรียมภาชนะใส่น้ำ และภาชนะรองรับน้ำ
2 . เมื่อพระเริ่มอนุโมทนาว่า ยถา … ให้ยกภาชนะที่ใส่น้ำมันลงในภาชนะที่รองรับ อย่าให้น้ำขาดสายพร้อมทั้งกรวดน้ำ
เมื่อพระขึ้น สัพพี… ให้รินน้ำให้หมดและประนมมือตั้งใจรับพร (การกรวดน้ำนี้ใช้ได้ในทุกพิธี)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ต้นฉบับ