web analytics
วันสำคัญ

วันอาสาฬหบูชา

Paintings_of_Life_of_Gautama_Buddha_-_Asalha_Puja

วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา; อักษรโรมัน: Asalha Puja) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก “อาสาฬหปูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ” อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า “วันพระธรรม” หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ “วันพระสงฆ์” คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย

เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501[5] กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา

 

ความสำคัญ

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ ในวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น “สัมมาสัมพุทธะ” คือเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ซึ่งแตกต่างจาก “พระปัจเจกพุทธเจ้า” ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า “วันพระธรรม”

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลคนแรก และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนา และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลกดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า “วันพระสงฆ์”

ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว ซึ่งควรพิจารณาเหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้

1. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
2. เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร์ ประกาศสัจจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ
3. นโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น
4. เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

ประกาศสำนักสังฆนายก เรื่อง กำหนดพิธีอาสาฬหบูชา ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 ว่า

… บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้ เพราะธรรมที่เราตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วไป ที่ถูกราคะ โทสะครอบงำอยู่จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย, คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คืออวิชชา) หุ้มไว้มิดทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะของเราที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา) ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย…

— มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม

 

สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชา

ดูบทความหลักที่ : สารนาถ และ พุทธสังเวชนียสถาน

วัดมูลคันธกุฏีวิหาร ภายในสารนาถ
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชา เกิดในบริเวณที่ตั้งของ กลุ่มพุทธสถานสารนาถ ภายในอาณาบริเวณของป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 9 กิโลเมตรเศษ ทางเหนือของเมืองพาราณสี อันเป็นเมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ สมัยนั้นแถบนี้อยู่ใน แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล (ในปัจจุบันอยู่ใน รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) ปัจจุบัน สารนาถ จัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 (1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ)

เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถเนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย แต่บ้างก็ว่ามาจากศัพท์ว่า สารงฺค+นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง

ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระสัจจธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่ และ เจาคันธีสถูป อยู่ไม่ไกลจากสารนาถ เป็นมหาสถูปที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสถานที่พำนักของเหล่าปัญจวัคคีย์ และสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงพบกับเหล่าปัญจวัคคีย์ครั้งแรก ณ จุดนี้ ก่อนที่จะพาไปแสดงปฐมเทศนาในสารนาถ

 

ความสำคัญและสภาพสารนาถในสมัยพุทธกาล
สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แปลว่า เขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ที่เป็นที่บำเพ็ญตบะของฤษี เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมมันตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์ ทำให้เหล่าปัจจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน

หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว ได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก พระองค์ได้สาวกเพิ่มกว่า 45 องค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระยสะ และบริวารของท่าน 44 องค์ ซึ่งรวมถึงบิดามารดาและภรรยาของพระยสะ ที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์และได้ยอมรับนับถือเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกในโลกด้วย  ทำให้ในพรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มีพระอรหันต์ในโลกรวม 60 องค์ และองค์พระพุทธเจ้า

นอกจากนี้ ในบริเวณสารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว  (เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมเมกขสถูป) ดังปรากฏความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า

…ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน ๒ รูป โดยทางเดียวกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง…

— สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕
และด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้ สารนาถจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้น

ซึ่งในช่วงหลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกจากสารนาถหลังประกาศส่งพระสาวกออกเผยแพร่ศาสนานั้น ไม่ปรากฏในหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามีการสร้างอารามหรือสิ่งก่อสร้างในป่าสารนาถแห่งนี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตคงจะได้มาเริ่มสร้างขึ้นกันในช่วงหลังที่พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมั่นคงในแคว้นมคธแล้ว

Sarnath1
ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด
สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระสัจจธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่

สารนาถหลังพุทธกาล
หลังพุทธกาล ประมาณ 300 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมาที่สารนาถ[31] ในปี พ.ศ. 295 ครั้งนั้นพระองค์ได้พบว่ามีสังฆารามใหญ่โตที่สารนาถแล้ว ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการบูรณะและก่อสร้างศาสนสถานเพิ่มเติมในสารนาถครั้งใหญ่ โดยพระองค์ได้สร้างสถูปและสิ่งต่าง ๆ มากมายในบริเวณกลุ่มสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนาและพระธรรมเทศนาอื่น ๆ แก่เบญจวัคคีย์ และหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ในบริเวณสารนาถ เพื่อถวายเป็นอนุสรณียสถานแก่พระพุทธเจ้า

กลุ่มพุทธสถานเหล่านี้ได้เจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คุปตะ ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Chinese traveler Hiuen-Tsang) ​ซึ่งได้จาริกมาราว พ.ศ. 1280 ท่านได้กล่าวไว้ในบันทึกของท่านว่า ท่านได้พบสังฆารามใหญ่โต มีพระอยู่ประจำ 1,500 รูป ภายในกำแพงมีวิหารหลังหนึ่งสูงกว่า 33 เมตร มีบันไดทางขึ้นปูด้วยแผ่นหินกว่า 100 ขั้น กำแพงบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้น ๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารมีสถูปหินอ่อนสูง 70 ฟุต (เสาอโศก) บนยอดเสามีรูปสิงห์สี่ตัวเป็นมันวาวราวกับหยกใสสะท้อนแสง มหาสถูป (ธรรมเมกขสถูป) มีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ทุกช่อง ฯลฯ

ยอดเสาหินพระเจ้าอโศกและพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนาสมัยคุปตะที่มีชื่อเสียง ในสมัยแรกขุดค้นสารนาถทางโบราณคดีในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 24-25
กลุ่มพุทธสถานสารนาถได้เจริญรุ่งเรืองสลับกับความเสื่อมเป็นช่วง ๆ ต่อมา จนในที่สุดได้ถูกกองทัพมุสลิมเตอร์กบุกเข้ามาทำลายในปี พ.ศ. 1737 ทำให้มหาสังฆารามและพุทธวิหารในสารนาถถูกทำลายล้างและถูกทิ้งร้างไปอย่างสิ้นเชิงในระยะต่อมากว่า 700 ปี เหลือเพียงกองดินและมหาสถูปใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเมกขสถูปและเจาคันธีสถูป ที่เป็นกองสถูปอิฐใหญ่โตมาก

สภาพของสารนาถหลังจากนั้นกลายเป็นกองดินกองอิฐมหึมา ทำให้หลังจากนั้น ชาวบ้านได้เข้ามารื้ออิฐจากสารนาถไปก่อสร้างอาคารในเมืองพาราณสีเป็นระยะ ๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญคือเหตุการณ์ที่ราชาเชตสิงห์ (Chait Singh) มหาราชาแห่งเมืองพาราณสี ได้สั่งให้ชคัตสิงห์อำมาตย์ไปรื้ออิฐเก่าจากสารนาถเพื่อนำไปสร้างตลาดในเมืองพาราณสี (ปัจจุบันตลาดนี้เรียกว่า ชคันคุนช์) โดยได้รื้อมหาธรรมราชิกสถูป ที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชลง และได้พบกับผอบศิลาสีเขียวสองชั้น ชั้นในมีไข่มุก พลอยและแผ่นเงินทองอยู่ปนกับขี้เถ้าและอัฐิ 3 ชิ้น ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชบรรจุไว้ แต่คชัตสิงห์กลับนำกระดูกไปลอยทิ้งที่แม่น้ำคงคา เพราะเชื่อว่าเจ้าของกระดูกในผอบคงจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์เพราะไม่ได้นำกระดูกไปลอยน้ำตามธรรมเนียมฮินดู ในปี พ.ศ. 2337

จนเมื่ออินเดียตกไปอยู่ในความปกครองของอังกฤษในปี พ.ศ. 2420  ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องตั้งเจ้าหน้าที่มาขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักโบราณคดี โดยสานงานต่อจากพันเอกแมคแคนซี่ ที่เข้ามาดูแลการขุดค้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2358 ซึ่งใช้เวลากว่าร้อยปีจึงจะขุดค้นสำเร็จในปี พ.ศ. 2465 ในสมัยที่ท่าน เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นหัวหน้ากองโบราณคดีอินเดีย จนช่วงหลังที่ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ได้มาบูรณะฟื้นฟูสารนาถให้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยท่านได้ซื้อที่เพื่อสร้างวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ซึ่งนับเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในบริเวณสารนาถหลังจากถูกทำลาย หลังจากนั้นเป็นต้นมา สารนาถได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา ทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

 

จุดแสวงบุญและสภาพของสารนาถในปัจจุบัน

ปัจจุบัน สถานที่แสวงบุญในบริเวณสารนาถได้รับการขุดค้นบ้างเป็นบางส่วน บางส่วนก็ยังคงจมอยู่ใต้ดิน แต่ซากพุทธสถานสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ในพุทธประวัติก็ได้รับการขุดค้นขึ้นมาหมดแล้ว เช่น

  • ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาและประกาศส่งพระสาวกไปเผยแพร่พระศาสนา
  • ยสสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงพบท่านยสะ ซึ่งต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันตสาวกองค์ที่ 6 ในโลก
  • รากฐานธรรมราชิกสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณะสูตร และสถานที่เคยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
  • พระมูลคันธกุฏี พระคันธกุฏีที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธองค์ในพรรษาแรก
  • ซากเสาพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งหักเป็น 5 ท่อน ในอดีตเสานี้เคยมีความสูงถึง 70 ฟุต และบนยอดเสามีรูปสิงห์ 4 หัวอีกด้วย ปัจจุบันสิงห์ 4 หัว ได้เหลือรอดจากการทำลายและรัฐบาลอินเดียได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ โดยสิงห์ 4 หัวนี้ ได้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย และข้อความจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่จารึกไว้ใต้รูปสิงห์ดังกล่าวคือ “สตฺยเมว ชยเต” (เทวนาครี: सत्यमेव जयते) หมายถึง “ความจริงชนะทุกสิ่ง”) และได้ถูกนำมาเป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศอินเดียอีกด้วย

บริเวณโดยรอบสถานที่สำคัญดังกล่าว มีหมู่พุทธวิหารและซากสถูปมากมายอยู่หนาแน่น แสดงถึงความศรัทธาของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี และนอกจากสถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติแล้ว ผู้มาแสวงบุญยังนิยมมาเยี่ยมชมวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ที่สร้างโดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ พระสงฆ์ชาวศรีลังกา ผู้ฟื้นฟูพุทธสถานสารนาถให้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญเหมือนในอดีต วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบจากรัฐบาลอินเดียและวัดนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากภายในพุทธวิหารอีกด้วย และใกล้กับสารนาถ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ภายในบริเวณสารนาถ ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญคือ ยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศก และพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ซึ่งมีผู้ยกย่องว่ามีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งของโลก

 

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น

โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันอาสาฬหบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันอาสาฬหบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้

บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
บทสวดพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรบาลี (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:เอวัมเม สุตัง เอกัง ฯลฯ) (ฟัง)
บทสวดบูชาเนื่องในวันอาสาฬหบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:ยะมัมหะ โข มะยัง ฯลฯ)
จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

เชื่อมต่อไปยัง ลิงค์ต้นฉบับ

Facebook Comments
แบ่งปันลิงค์นี้ :